พรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงดวงขึ้น หลังจากหลุดจากข้อหาสามัญ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาสดๆ ร้อนๆก็มาชนะเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ที่ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคยกขบวนไปช่วยหา เสียง เพราะอุดรฯเคยเป็นเมืองหลวงของกลุ่มคนเสื้อแดง

ส่วนพรรคที่แพ้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ได้แก่ผู้สมัครจากพรรคประชาชน คู่รักคู่แค้น แม้จะไม่ถึงกับชนะแบบแลนด์สไลด์ ฟ้าถล่มดินทลาย ชนะแค่ 283,186 ต่อ 235,060 แต่ต้องถือว่าพรรคเพื่อไทย “เอาคืน” ได้นิดๆ จากที่เคยแพ้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 เลือกตั้งที่อุดรฯต้องถือเป็นศึกสำคัญ เพราะยกทัพหลวงไปสู้

พรรคเพื่อไทยนำทัพโดยนายทักษิณ ชินวัตร พรรคประชาชนนำโดย อดีตหัวหน้าพรรค 2 คน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับนายชัยธวัช ตุลาธน ตามด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน เป็นสัญญาณแสดงว่าทั้งสองพรรคจะเป็นคู่รักคู่แค้นกันอีกครั้งในการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า เป็นการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม

ขณะนี้ พรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น  ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่นายทักษิณไปอุดรฯในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง” ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองฝ่ายเดียว และนายทักษิณยังพ้นบ่วงถูกร้องล้มล้างการปกครองถึง 6 ข้อ เช่น สั่งพรรคเพื่อไทยให้เอื้อประโยชน์กัมพูชา และอื่นๆ

นายทักษิณเคยเสนอพรรคประชาชนอย่าไปสนใจแต่การออกกฎหมายใหม่ๆมาช่วยกันแก้ไขหรือโละทิ้งกฎหมายเก่าๆที่ล้าสมัยดีกว่า เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ไม่ถูกทั้งหมด ที่ถูกต้องก็คือต้องโละทั้งหมดกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย และตรากฎหมายใหม่ให้ทันโลก เช่น ควรยกเลิกข้อห้าม “ครอบงำพรรค หรือชี้นำพรรค” เสียที

...

ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ยึดหลักประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือเข้าร่วมกิจกรรมของพรรค โดยจะเป็นสมาชิกหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งมีสิทธิที่จะ “ชี้นำ” แนวนโยบายต่างๆ ให้พรรคการเมืองนำไปเป็นนโยบายพรรคบริหารประเทศเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ส่วนพรรคประชาชนจะต้องถือว่าการแพ้เลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญ เพราะถึงแม้พรรคจะให้ความสนใจการเมืองท้องถิ่น และเข้าไปมีบทบาทเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยสอบได้ระดับนายก อบจ.  เช่น ที่ราชบุรี และซํ้าเติมด้วยอุดรธานี จึงต้องนำบทเรียนไปทบทวน และศึกษาปรับปรุงเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหมาย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม