นายกฯ ขอบคุณ ศปช. ทำงานเชิงรุก เตรียมเคาะแผนแก้น้ำท่วมเชียงใหม่-เชียงราย ชง ครม.สัญจร ย้ำ ต้องเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า อย่าให้ท่วมซ้ำ พร้อมสั่งการ “บิ๊กอ้วน” ดูแลกำลังพลเรื่องเงินเยียวยา
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. ดูแลเยียวยากำลังพลทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งบางส่วนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัย แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเนื่องจากติดขัดเรื่องข้อจำกัดระเบียบทางราชการ
“หน่วยทหารได้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ส่วนหน้ามาตลอด ซึ่งกำลังพลก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 9,000 บาท ที่ประชุม ศปช. เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงกลาโหม รวบรวมรายชื่อหน่วยงานกำลังพล ส่งให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หารือแนวทางดำเนินการกับกรมบัญชีกลางอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกำลังพลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว”
...
ขณะเดียวกัน ผอ.ศปช. ติดตามความคืบหน้าของคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ - จ.เชียงราย ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ชื่นชม ศปช. ที่ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตให้กับประชาชน โดยวันนี้ที่ประชุมได้วางแผนการทำงานในระยะเร่งด่วน ซึ่งจะต้องเร่งให้เสร็จทันก่อนฤดูฝนปีหน้า หรือแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยจะเร่งขุดลอกแหล่งน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งวันนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องเสนอแผนเข้ามา ได้เห็นชอบในหลักการและเสนอเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร ในสัปดาห์นี้ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินงานได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ส่วนแผนระยะกลาง ระยะยาว จะมีการขุดคลองผันน้ำ การสร้างแนวป้องกันตลิ่ง และการจัดทำแก้มลิงชั่วคราว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ และแม่น้ำกก จ.เชียงราย ได้
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ไขแม่น้ำสาย ที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศไทยและเมียนมานั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การขยายช่องทางการไหลของน้ำ โดยการขุดลอกแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก เป็นแนวทางสำคัญการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ.