คณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ประชุมพิจารณาเรื่อง การรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของ ทักษิณ ชินวัตร เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ซึ่งมีตัวละครที่สำคัญและถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะ รมว.ยุติธรรม ที่มีหน้าที่กำกับดูแล กรมราชทัณฑ์ โฟกัสไปที่เรื่องของเอกสารและการเข้ารับการรักษา อาการของโรคเป็นการอ้างตามอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการที่จะเชิญบุคคลและขอเอกสารเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ซึ่งอาจจะค้านสายตาคนดูถึงอำนาจของกรรมาธิการชุดนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงหรือไม่ มาดูที่เนื้อหาของ พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ อ้างว่า การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของ ทักษิณ ชินวัตร มีมาก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีเพียงแต่ข่าวตามสื่อมวลชนว่า ทักษิณ จะกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมในวันที่ 10 ส.ค. ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นนายกฯด้วยซ้ำไป เพราะการเลือกนายกฯในสภามีขึ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี ได้ชี้แจงว่าไม่รู้ว่าตนเองจะได้เป็น รมว.ยุติธรรม หรือไม่ และตั้งข้อสังเกตว่า กรรมาธิการฯไปด้อยค่ากรมราชทัณฑ์ ไม่ให้มีโอกาสชี้แจง โดยยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ทำตามกฎหมาย

เมื่อมีการเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การใช้ห้องควบคุมพิเศษ เป็นดุลพินิจของ ผบ.ตร.โรงพยาบาลตำรวจ และการเข้าเยี่ยมก็มีรายงานการเข้าเยี่ยมทั้งหมด ในตอนหนึ่งของการชี้แจง พ.ต.อ.ทวี ได้อ้างถึงความปลอดภัยของ ทักษิณ เนื่องจากเคยถูกปองร้ายโดย คาร์บอมบ์ มาแล้ว

“การใช้ดุลพินิจ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน คนที่เข้าเรือนจำ ต้องควบคุม ห้องที่ทักษิณไปอยู่ก็คือห้องควบคุมพิเศษ ส่วนที่มีป้ายเขียนว่า ตึกชั้นนี้เป็นพรีเมียม ไม่ทราบ เพราะเป็นที่รักษาคนทั่วไป คนทั่วไปก็อยู่ได้ อองซาน ซูจี ยังถูกขังที่บ้าน ประเด็นอยู่ที่เราต้องควบคุมในลักษณะที่ยังต้องราชทัณฑ์อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการหลบหนีไปก่อเหตุร้าย”

...

พ.ต.อ.ทวี ยังชี้แจงเรื่องการใช้สิทธิพิเศษ เป็นการ ช่วยเหลือกันหรือไม่ว่า ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแพทย์ ได้ให้ความเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และเหลือโทษไม่มาก ซึ่งหมอจะวินิจฉัยโรคดีกว่า เห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมดมีโรคหลายโรคและไม่มีผู้ให้ความเห็นแย้ง มีทั้งผู้แทนของอัยการสูงสุด ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “รองปลัดยุติธรรมและผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ตรวจสอบกรณีนี้แล้วไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และเรื่องยุติไปแล้ว”

ประเด็นการขอเอกสารระเบียนเวชนั้น เป็นสิทธิของคนไข้ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ม.7 เอกสารการรักษาพยาบาลได้ส่งให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว มีทั้งราคาและรายละเอียดการรักษา ที่คนไข้ขอจ่ายเงินเอง

ในที่สุดแล้ว เรื่องราวของชั้น 14 ก็น่าจะจบแต่การเมืองยังไม่จบง่ายๆ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม