ก็ไม่รู้ตอนนี้พรรคเพื่อไทยยังมีปณิธานแรงกล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่อีกหรือเปล่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้องของคุณธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ขอให้วินิจฉัยการกระทำของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพรรคเพื่อไทย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ทำให้คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยรอดคดีไปแบบสบายๆ
คำร้องของคุณธีรยุทธระบุพฤติการณ์ไว้ 6 ประเด็น ปรากฏว่ามีถึง 5 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง โดยเห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ ได้แก่ กรณีนอนรักษาตัวที่ รพ. ตร.ชั้น 14 โดยไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ กรณีร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเดิมเสนอชื่อนายกฯคนใหม่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า กรณีขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และกรณีเอาสิ่งที่คุณทักษิณแสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นคือกรณีเจรจาแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา แม้มติไม่ถึงขั้นเอกฉันท์ แต่เป็นเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
สภาพการเมือง ณ ปัจจุบัน คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ผู้ถูกไล่ล่าในนิติสงครามแล้ว คำพูดที่เคยกล่าวอยู่เสมอว่ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดทักษิณ ตอนนี้เจ้าตัวคงไม่รู้สึกแบบนั้นอีก เพราะเป้าหลักของนิติสงคราม ศัตรูขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้เปลี่ยนจากแดงเป็นส้มไปแล้ว คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจากที่เคยเพลี่ยงพล้ำทุกกระดาน กลายเป็นได้เปรียบทุกหมาก เป็นพรรคอันดับ 2 แต่ได้เป็นแกนนำรัฐบาล ถูกคุมตัวเข้าเรือนจำแต่เป็นนักโทษเทวดาที่ไม่ต้องติดคุกแม้สักวันเดียว
วันนี้คนในพรรคเพื่อไทยไม่มีใครอยากพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะพูดไปก็เข้าตัว จะว่าไปทุกพรรคล้วนปิดปากเงียบเหมือนกันหมด (ยกเว้นพรรคประชาชนที่ต้องเลี้ยงกระแสเอาใจแฟนคลับ) ผิดกับตอนหาเสียงประกาศปาวๆ จะเข้าสภาฯมาผลักดันให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปสู่ประชาธิปไตย
...
ผ่านพ้นการเลือกตั้งมาแล้วปีครึ่ง กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่เดิม การแก้กฎหมายประชามติลดเกณฑ์จากใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหลือเสียงข้างมากชั้นเดียว ซึ่งเป็นประตูบานแรกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ง่ายขึ้น ก็ถูกสกัดในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภา กรรมาธิการซีก สว.แพ็ก เสียงกันแน่นโหวตชนะให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นตามเดิม
เปิดสมัยประชุมเดือนหน้า วุฒิสภาต้องโหวตเอาตามกรรมาธิการร่วมอยู่แล้ว ส่วนสภาผู้แทนราษฎรก็คงเล่นตามบท ลงมติไม่เห็นด้วย ส่งผลให้ร่างกฎหมายประชามติต้องถูกดองไว้ 180 วัน จากนั้นสภาฯถึงจะหยิบยกร่างแรกที่ผ่านสภาฯมายืนยัน ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียวได้ นี่แค่ประตูบานแรกที่จะทำให้แก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น ยังต้องเสียเวลาไปร่วม 2 ปี
คุณชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอไอเดียจะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 วรรคท้าย ตีความว่าร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน สามารถร่นเวลาการยับยั้งกฎหมายจาก 180 วัน ลดเหลือเพียง 10 วัน แต่ช่องทางนี้น่าจะเดินไม่ได้ เพราะประธานรัฐสภาเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน ผมว่าคุณชูศักดิ์แค่ออกมาโยนไอเดียเก๋ๆไปงั้นเอง ให้ดูเสมือนว่าพยายามทุกช่องทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต่อให้ร่นเวลาได้จริง พอเปิดประตูบานสองเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องใช้เสียง สว.ถึง 1 ใน 3 หรือจำนวน 67 เสียงให้ความเห็นชอบ แล้วจะหามาจากไหน ในเมื่อ สว.สีน้ำเงินยึดวุฒิสภาเบ็ดเสร็จมีถึง 160 เสียง สว.นอกกลุ่มมีแค่ 40 เสียงเอง
นี่แหละครับ 1 ในภารกิจหลักที่ สว.สีน้ำเงินได้รับมอบหมาย คือปกป้องรัฐธรรมนูญปี 60.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม