“ชูศักดิ์” ตีปีกสัญญาณดีรัฐบาล หลังศาล รธน.ตีตก คำร้องกล่าวหา พท.ล้มล้างการปกครองฯ ชี้ทำงานได้มั่นใจขึ้นไม่ต้องกังวลอะไร พร้อมแจงทุกข้อสงสัยของ กกต. “กฤช” ไม่หวั่นไหวแค่ระวังข้อกฎหมาย ยันนายกฯไม่ได้วิตกกังวลอะไร “นพดล” หวังองค์กรอิสระยึดมั่นนิติธรรม เพื่อไทยโยนประชุมร่วม ปธ.สภา-ปธ.กมธ.สามัญทุกคณะ ถกปม พ.ร.บ.ประชามติเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ “นิกร” เตือนอย่าฝืนบิดเบือน สุ่มเสี่ยงกระทำขัดรัฐธรรมนูญ โพลชี้ ปชน.ปะทะ พท.แค่การละคร
แกนนำพรรคเพื่อไทยแห่รับสัญญาณดี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ทำให้รัฐบาลทำงานได้แบบไม่มีความกังวลอะไร พร้อมมั่นใจสามารถชี้แจงต่อ กกต.ได้ทุกข้อสงสัย
“ชูศักดิ์” ชี้สัญญาณดีของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีทางการเมืองของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประเด็นล้มล้างการปกครองถือเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญถึงขั้นยุบพรรค การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเป็นสัญญาณว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบริบท ทำให้รัฐบาลทำงานได้แบบไม่ต้องกังวลอะไร คิดว่าเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจทำหน้าที่ต่อไป และเชื่อว่าประเด็นล้มล้างการปกครองไม่น่าจะมีอะไรแล้ว
มั่นใจแจงทุกข้อสงสัยของ กกต.ได้
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นอื่นที่มีการร้องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น เรื่องการครอบงำพรรค มั่นใจว่าเราสามารถชี้แจงได้ ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล เราเตรียมตัวชี้แจงแล้วว่าเป็นอย่างไร คงชี้แจงแนวเดิมว่า การอ้างว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาสั่ง ไม่ใช่เรื่องการครอบงำแค่การปรึกษาหารือให้คำแนะนำที่ทำได้ทั่วไปทางการเมือง แต่คณะกรรมการบริหารพรรคยังมีอิสระในการตัดสินใจเต็มที่ และขณะนี้ยังไม่มีหนังสือมาให้เราชี้แจงประเด็นอะไร แต่พรรคเตรียมพร้อม เสมอและมั่นใจว่าชี้แจงได้
...
ไม่หวั่นไหวแค่ระวังข้อกฎหมาย
นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร) ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กกต.ยังคงเดินหน้าสอบยุบพรรคเพื่อไทยต่อไป โดยอ้าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับการครอบงำพรรคว่าเรื่องที่ กกต.จะสอบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการครอบงำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 และมาตรา 29 มีกระบวนการอยู่ หาก กกต.แจ้งข้อกล่าวหามา เราก็มีหน้าที่ชี้แจงข้อกล่าวหา ไม่กังวลอะไร เมื่อถามว่าพรรค พท.จะเดินหน้าทำงานต่อโดยไม่หวั่นไหวใช่หรือไม่ นายกฤชตอบว่า ไม่ได้หวั่นไหวทำหน้าที่ไป แต่ต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายและข้อห้ามต่างๆ เมื่อถามว่ามีการพูดคุยกันภายในพรรคบ้างหรือไม่ นายกฤชตอบว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการครอบงำเป็นข้อกล่าวหาแบบกว้าง อยู่ที่การตีความ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกพรรคหากมีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
ยันนายกฯไม่ได้วิตกกังวลอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายดูโดยตรง หรือมีการตั้งใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฤชตอบว่า จริงๆมีหลายคนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย แต่ต้องมาดูการแจ้งข้อกล่าวหาของ กกต.ก่อน ว่าเขาแจ้งข้อกล่าวหามาว่าอย่างไรบ้าง เมื่อถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค พท. มีการพูดคุยอะไรกับฝ่ายกฎหมายถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายกฤชตอบว่า พูดคุยกันตลอดในพรรคอยู่แล้ว ท่านไม่ได้เป็นห่วงหรือกังวลอะไร ทุกคนทำหน้าที่ไปตามปกติ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหามาฝ่ายกฎหมายมีหน้าที่ต้องมาประชุมว่าจะชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างไร และต้องว่าไปตามกระบวนการ
หวังองค์กรอิสระจะยึดมั่นนิติธรรม
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ กกต.ที่จะพิจารณาตามคำร้องของนักร้องที่ไปยื่นเรื่องไว้ แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจในชุดข้อมูลของเราว่าไม่มีพฤติกรรมให้คนนอกพรรคมาครอบงำ เพราะมีกรรมการบริหารพรรคเหมือนพรรคอื่นๆ ที่การดำเนินการอะไรต้องผ่านการตัดสินใจและมีมติของกรรมการบริหารพรรค เชื่อมั่น กกต.ในการรวมพยานหลักฐาน และวินิจฉัยประเด็นต่างๆตามข้อเท็จจริง จึงไม่มีอะไรต้องกังวลไปก่อน เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นของ กกต. มักเป็นไปในทางลบต่อพรรคเพื่อไทย นายนพดลตอบว่า เราจะไปสรุปเช่นนั้นก็อาจยังไม่ถึงขั้นนั้น คิดว่าไม่ถึงขั้นนั้น เรามั่นใจองค์กรอิสระจะปฏิบัติตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามหลักนิติธรรม คำวินิจฉัยจะอยู่บนพยานหลักฐาน สามารถตอบคำถามกับสังคมได้ ไม่ใช่ผลดีแก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความมั่นคงให้ระบบการเมืองไทย และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศให้เชื่อว่าเราเป็นประเทศที่มีนิติรัฐนิติธรรมแข็งแรง เขาจะได้กล้ามาลงทุน
“อนุสรณ์” ขอ กกต.ยึดข้อเท็จจริง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคมีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการเรื่องนี้ มั่นใจว่าไม่เคยมีพฤติกรรมให้บุคคลนอกมาครอบงำพรรค ทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาตัดสินใจ และมติของคณะกรรมการบริหารพรรครับรอง การที่ กกต.เดินหน้าสอบสวนต่อจึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ส่วนที่มีการมองกันว่าการแสดงความคิดเห็นของ กกต.มักเป็นไปในทางลบต่อพรรค พท.นั้น ถ้าทุกฝ่ายละวางมุมมองฝ่ายเขาฝ่ายเรา และมองอย่างเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกันและกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่บนพื้นฐานของการเคารพกัน ยึดหลักนิติธรรม กกต.ปฏิบัติงานตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยจะอยู่บนพยานหลักฐาน สามารถตอบคำถามและอธิบายกับสังคมได้ จะไม่เกิดการเผชิญหน้าหรือไม่เกิดปัญหาตามมา ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนควรหันมาช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น
โยนประชุมร่วมถกปม ก.ม.การเงิน
นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ อาจเข้าข่ายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทำให้อาจไม่ต้องรอ 180 วันว่า ต้องหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธาน กมธ.ทุกคณะก่อนว่าเข้าข่ายลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ เพราะมีข้อบังคับเขียนไว้ หากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินจะย่นเวลาลงมา แต่หากไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 คือต้องค้างไว้ 180 วัน
ชูจุดยืนใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
เมื่อถามว่าหากต้องรออีก 180 วัน การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายกฤชตอบว่า หากต้องรอ 180 วัน และการทำประชามติต้องทำ 3 ครั้ง เคยคำนวณไว้ขั้นต่ำต้องใช้เวลาประมาณ 1,080 วัน หรือ 2 ปี 11 เดือน ซึ่งจะเลยเวลาอายุสภาและรัฐบาลชุดนี้ แต่ในขั้นตอนระหว่างนั้นอาจมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว เมื่อ ส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็เดินหน้าไป เราต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่กรอบกฎหมายกำหนดให้ทำได้ และต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาก่อน เราต้องไปดูตรงนี้ด้วยว่าผ่านความเห็นชอบหรือไม่ เมื่อถามว่าจุดยืนพรรค พท. ยังคงใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้นใช่หรือไม่ นายกฤชตอบว่า ใช่ ไปตามร่างที่เคยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ตอนนั้นมติเป็นเอกฉันท์ที่ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าเป็นเสียงข้างมากธรรมดา เมื่อถามว่าใน กมธ.ต้องมีการประชุมอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฤชตอบว่า จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 ธ.ค. เพื่อสรุปผลรายงานการประชุม
“นิกร” ย้ำต้องพักไว้ก่อน 180 วัน
นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า วันที่ 4 ธ.ค. จะมีการประชุม กมธ.เสนอรายงานเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของแต่ละสภาเมื่อเปิดสมัยประชุม คาดว่าวุฒิสภาจะพิจารณารายงานของ กมธ. ในวันที่ 16 ธ.ค. ส่วนสภาผู้แทนราษฎรคาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 18 ธ.ค. เชื่อว่ารายงานจะได้รับความเห็นชอบจากฝั่งวุฒิสภา เพราะเป็นหลักการสองชั้นตามร่างที่วุฒิสภาได้แก้ไขไว้ แต่ในฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเชื่อว่าคงไม่ให้ความเห็นชอบแน่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 ต้องถูกยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน เพื่อที่ทางสภาจะได้ยกร่างฉบับของสภาขึ้นมาพิจารณาใหม่ แล้วยืนยันเพื่อให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา จากนั้นจะดำเนินการตามมาตรา 81 เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
เตือนอย่าฝืนบิดเป็น ก.ม.การเงิน
นายนิกรกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีมีผู้เสนอความเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับการเงิน เพื่อลดเวลาการยับยั้งไว้จาก 180 วัน ให้เหลือเพียงแค่ 10 วันนั้น ถ้าทำได้จริงคงเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้จากสภาพบังคับของกฎหมายประชามติตามที่เป็นอยู่ ทำให้การจัดทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งแรก ไม่ได้ล่าช้าไปเพียง 180 วันเท่านั้น หากแต่ต้องรวมเอาเวลาของขั้นตอนอื่นๆตามกฎหมายอื่นด้วย ทำให้ระยะเวลาต้องยืดไปอีกเป็นปี คาดว่าจะสามารถทำประชามติครั้งแรกได้ช่วงเดือน ม.ค.2569 แต่ ณ วันนี้ไม่สามารถลดห้วงเวลาโดยอาศัยช่องทางว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินได้แล้ว ถ้าฝืนทำอาจสุ่มเสี่ยงถูกร้องว่าออกกฎหมายโดยมิชอบ เพราะเป็นอันเด็ดขาดแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ตามที่สภาผู้แทนราษฎรแจ้งต่อวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 วรรค 4 ถือว่าล่วงพ้นจากข้อสงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงินไปแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธาน กมธ.สามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอีก หากฝืนทำอาจส่งผลถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
บี้กรมที่ดินเพิกถอนที่ดินเขากระโดง
อีกเรื่อง นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวถึงกรณีกรมที่ดินโดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดงตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ที่ดินบริเวณพื้นที่เขากระโดง 5,083 ไร่ รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้กรมรถไฟหลวง ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างทางรถไฟให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎร และรัชกาลที่ 6 ได้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมิให้ผู้ใดมาครอบครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อมามีกลุ่มบุคคลนำโดยนายชัย ชิดชอบ มาขอทำกิน จนเกิดข้อพิพาท ในที่สุดนายชัยพร้อมเจ้าหน้าที่ รฟท.ได้ลงบันทึกร่วมเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 ว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยนายชัยขออาศัยที่ดินจาก รฟท. และ รฟท.ตกลงยินยอมให้อาศัย ต่อมามีความพยายามเบียดบังที่ดิน รฟท.มาเป็นที่ดินของตนอย่างเป็นขบวนการ และออกเอกสารสิทธิทับที่ดินของ รฟท.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ล่าสุดมีคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เพิกถอนสิทธิ แต่กรมที่ดินกลับไม่เพิกถอน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการบ่ายเบี่ยงไม่เคารพกฎหมาย
คนคิดเบียดบังประสบแต่หายนะ
“ขอเตือนสติรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน ผู้เกี่ยวข้องที่กำลังละเมิดพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 5 ดูหมิ่นเหยียดหยามอำนาจของศาลสูงสุด แกนนำรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบต้องเร่งดำเนินตามคำพิพากษาของศาลฎีกา หากวางเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เข้าข่ายละเมิดพระบรมราชโองการ ละเมิดอำนาจศาล ต้องมีความผิดตามกฎหมาย ส่วน รมว.คมนาคมและผู้ว่าการ รฟท. ยืนข้างผลประโยชน์ของบ้านเมือง รวมทั้งผู้ที่ยื่นฟ้องต่อศาลเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ต้องให้การสนับสนุนทวงคืนที่ดินของพ่อหลวง ร.5 มาให้ได้ ขอเตือนว่าที่ดินของหลวงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดที่บังอาจเบียดบังมาเป็นของตนจะประสบแต่ความวิบัติหายนะ” นายอดุลย์กล่าว
โพลชี้ ปชน.ชน พท.แค่การละคร
วันเดียวกัน นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “พรรคประชาชนเปิดหน้าชนพรรคเพื่อไทย” ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย. พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 45.27 เห็นว่าการวิวาทะระหว่างพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยผ่านสื่อขณะนี้เป็นแค่ละครทางการเมืองฉากหนึ่ง เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ร้อยละ 29.16 เป็นแค่ความพยายามเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น มีร้อยละ 17.10 ที่เห็นว่าเป็นเรื่องจริงจังว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกันแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.72 ยังเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคประชาชนจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ร้อยละ 32.37 ค่อนข้างเป็นไปได้ มีร้อยละ 13.20 ระบุว่าเป็นไปได้มาก นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.20 บอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคเพื่อไทยจะได้ สส.เกิน 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุ มีแค่ร้อยละ 12.29 ที่มองว่าเป็นไปได้มาก ขณะที่ความคิดเห็นต่อบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นเวทีหาเสียงในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ส่วนใหญ่บอกว่าไม่เป็นไร เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม
เชื่อเงินหมื่นเฟส 2 กระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่สวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,227 คน เรื่อง “รัฐบาลแพทองธาร กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย. พบว่าร้อยละ 54.80 กังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร อาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ รองลงมาเห็นว่ามาตรการยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มาตรการบางส่วนดีแต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.78 ยังพึงพอใจกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นถ้วนหน้ามากที่สุด รองลงมาเป็นการแจกเงิน 1 หมื่นบาท เฟส 1 เฟส 2 และปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน และส่วนใหญ่เชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาท เฟส 2 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า เพิ่มมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ และส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนให้เติบโต
พท.ทิ้งขาด ปชน.นายก อบจ.อุดรฯ
สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อบจ.) ที่มีการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน เย็นวันเดียวกัน หลังการปิดหีบเลือกตั้งและเริ่มนับคะแนน เมื่อเวลา 20.25 น. นับไปได้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่านายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี จากพรรคประชาชน เบอร์ 1 ได้ 165,024 คะแนน ขณะที่นายสราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี จากพรรคเพื่อไทย เบอร์ 2 ได้ 203,078 คะแนน คะแนนทิ้งห่างกันเกือบ 4 หมื่นคะแนน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่