เมื่อปลายๆสัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยท่านเลขาธิการ ดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆของปีนี้ สรุปได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเราขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3 เกินกว่าที่คาดหมายไว้

ถือเป็นข่าวดีเล็กๆข่าวหนึ่งในท่ามกลางข่าวที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยเรา ในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมานี้

แม้ผมจะหยิบมาบันทึกช้าไปนิดหน่อย แต่ก็ต้องขออนุญาตบันทึกไว้ละครับ...เพื่อที่จะเป็นขวัญเป็นกำลังใจสำหรับการที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศกันต่อไป

ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 หรือระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และกันยายนของปีนี้ร้อยละ 3

ดังกล่าว เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และไตรมาสแรกร้อยละ 1.6 อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

เมื่อไปดูรายละเอียดว่า อะไรคือตัวเร่งสำคัญของไตรมาสที่ 3 ก็จะพบว่ามาจาก การลงทุนภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยการส่งออกด้านบริการเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ และการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น 8.3 เปอร์เซ็นต์

สาขาก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นเกือบ 16 เปอร์เซ็นต์ การขนส่งเพิ่ม 9 เปอร์เซ็นต์ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารก็เพิ่มกว่า 8 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวนี้ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงประเด็นหนึ่งที่เราเชื่อกันแต่แรกว่าที่เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วโตช้าแค่ร้อยละ 1.9 และใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ก็ยังโตได้ไม่มาก เป็นเพราะงบ การลงทุนของภาครัฐ ที่หดหายไป

เหตุเพราะไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพราะอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลและความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อสามารถเบิกจ่ายได้อย่างเต็มที่ ทำให้งบ ลงทุนภาครัฐกระฉูดถึงเกือบร้อยละ 26 จึงส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 3 ขึ้นไปที่ร้อยละ 3 ดังกล่าว

...

เสียดายที่การลงทุนภาคเอกชนน้อยลงไปถึงขั้นติดลบ...มิฉะนั้นการเติบโตอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

สภาพัฒน์คาดหมายต่อไปว่าไตรมาสที่ 4 ที่เราย่างก้าวเข้ามาเรียบร้อยแล้วนี้ก็จะยังคงดีอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นผลให้ปี 2567 ทั้งปี เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้กว่าร้อยละ 2.6 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2566 ที่โตเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น

ท่านเลขาฯสภาพัฒน์ยังมองต่อไปอีกว่า ปีหน้า 2568 อาจขยายตัวได้ตั้งแต่ 2.3 ไปจนถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าปีนี้อีก หากสามารถบริหารความเสี่ยงเอาตัวรอดจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามความสามารถของรัฐบาลชุดนี้กันต่อไปว่าจะบริหารออกมาในลักษณะใด

ท่านเลขาฯสภาพัฒน์สรุปทิ้งท้ายว่า ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไตรมาส 3 อีกหลายๆตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพที่ดีของประเทศไทย...ได้แก่

การจ้างงาน มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจาก 1.07 เปอร์เซ็นต์ไตรมาสก่อนๆ เงินเฟ้อ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าค่อนข้างต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 198.5 พันล้านบาท ก็ถือว่าโอเค เงินทุนสำรอง มีอยู่ 243.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็โอเคอีก

หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ยังอยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์

ครับ! ก็ขอบันทึกไว้ “เพื่อทราบ” ว่าหลายๆอย่างกำลังดีขึ้น แม้จะไม่ดีมากจนถึงขั้นที่จะไว้วางใจได้ และยังจะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังรอบคอบต่อไปอีก

แต่อย่างน้อยการมี “ข่าวดี” เรื่องเศรษฐกิจเข้ามาบ้าง แม้จะนิดหน่อยก็ดีกว่าไม่มี “ข่าวดี” อะไรเสียเลย...สรุปสั้นๆอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม