ไม่มี…พรรคการเมืองมาสั่ง

ไม่มีใบสั่ง สว.เป็นอิสระคิดเอง

ไม่มีใครสามารถบังคับ สว.ได้

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.กรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดใจที่ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ถึง สว.ส่วนใหญ่เป็นสายสีน้ำเงิน

ถูกครอบงำ ครอบครองโดยบางพรรคการเมือง ทุกภารกิจที่ดำเนินการมาแล้วหรือกำลังดำเนินการ ล้วนทำตามออเดอร์ของพรรคการเมืองนั้น ตั้งแต่เลือกตำแหน่งสำคัญๆในวุฒิสภา โหวตผ่านร่างกฎหมาย ให้ความเห็นชอบตำแหน่งในองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รวมถึงให้ความเห็นกรรมการองค์กรอิสระ หลังคณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อมา อาทิ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 คน แทนคนที่ครบวาระ ซึ่งปิดสมัครแล้ว กำลังเข้าสู่กระบวนการสรรหา

ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครเพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาผู้ที่เหมาะสม 2 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ครบวาระ

นายพิสิษฐ์ ยืนยันไขข้อข้องใจถึงสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตในเชิงลบกับวุฒิสภาว่า สว.ทุกคนเดินตามกรอบรัฐธรรมนูญ เป็นอิสระสมกับที่มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ มีความเห็นแตกต่าง มองได้หลายมุมเป็นธรรมดาแต่ไม่แตกแยก ตัดสินใจลงมติในแต่ละเรื่องโดยยึดหลักความชอบธรรม

อาทิ ตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด วุฒิสภาทำหน้าที่หลักการกลั่นกรองตามที่องค์กรนั้นส่งรายชื่อมา และให้ความเห็นชอบ กรรมการองค์กรอิสระอื่นๆก็อยู่ที่คณะกรรมการสรรหา มีองค์ประกอบของกรรมการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดส่งรายชื่อมา วุฒิสภาพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องกลับไปสรรหาใหม่

...

วุฒิสภาไม่มีอำนาจไปจิ้มเลือกใคร

ในยุค คสช.องค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถูกตั้งข้อสังเกตเป็นหอกดาบไว้จัดการฝ่ายตรงข้าม มาถึงยุคนี้ สว.สายสีน้ำเงินกำลังถูกจับตา เปิดทางให้บางพรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงองค์กรเหล่านั้น เพื่อถือดาบจัดการฝ่ายตรงข้าม เสี่ยงเกิดวิกฤติการเมืองอีก นายพิสิษฐ์ บอกว่า สว.ไม่อิงพรรคการเมือง ถ้าเป็น สว.สีน้ำเงิน ก็ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทย

โดยยึดมั่นชาติ–ศาสน์–กษัตริย์

“ผมสีน้ำเงินแน่ๆ น้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ สว.ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ทุกการตัดสินใจเป็นไปตามข้อเท็จจริง บนความเป็นอิสระไม่ได้มีใครมาสั่ง

ในฐานะอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่คานอำนาจฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเป็นหลัก 

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเสนอเรื่องต่างๆที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม วุฒิสภามีอำนาจยับยั้งให้ข้อคิดเห็น

วุฒิสภาไม่มีอำนาจถึงขั้นให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งใหม่ทางการเมือง”

สว.สายสีน้ำเงินเดิมมี 140 คน ดูจากการโหวตครั้งสำคัญไปในทิศทางเดียว และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นอะไรภายในวุฒิสภา นายพิสิษฐ์ บอกว่า ยึดตามเสียงข้างมาก รับฟังเสียงข้างน้อย เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ทุกๆการโหวตมีซ้ายกับขวา

ส่วนที่มีจำนวน สว.ส่วนใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆถือเป็นเรื่องปกติ เพราะโหวตตามหลักที่ถูกต้องในหลายๆเรื่อง เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทำประชามติ สภาผู้แทนราษฎรใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว คือเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

แต่เชื่อว่า สว.ส่วนใหญ่สนับสนุนเกณฑ์ผ่านประชามติตามเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ

เพราะการทำประชามติ ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่อาจมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอ็มโอยู 44

ฉะนั้นแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันเป็นระบบ 2 ชั้น เพราะกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ แต่บางเรื่องที่ไม่กระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบ 2 ชั้น ใช้เกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิทำประชามติก็พอ

โหวตร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทำประชามติ เป็นไปตามทิศทางบางพรรค การเมือง โหวตตำแหน่งสำคัญๆก็เป็นไป ตามคาด ตัวเต็งได้รับการโหวต ตอกย้ำจับโยงว่าจากสายสีน้ำเงินด้วยกัน นายพิสิษฐ์ บอกว่า เป็นไปได้ที่ใครจะคิดแบบนั้น ขอให้ความมั่นใจว่า สว.ทุกคนเป็นอิสระในความรู้สึกส่วนตัวจึงไม่รู้สึกว่า สว.คนนั้นอยู่สีนั้นสีนี้

ทำไมจะเสนอเอ็มโอยู 44 พื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาทำประชามติ นายพิสิษฐ์ บอกว่า แค่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าอาจเป็นไปได้ที่ไปกระทบกระเทือนความมั่นคงของประเทศ เกิดว่าต้องทำประชามติ คงต้องดูในรัฐธรรมนูญว่ามันเกี่ยวข้องถึงขั้นต้องทำประชามติหรือไม่ ไม่ได้บอกว่าต้องทำ แต่ในอนาคตอาจต้องมี

จุดยื่น สว.บาลานซ์ พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทยอย่างไร หลังถูกตั้งข้อสังเกต สว.ส่วนใหญ่ที่เป็นสีน้ำเงิน เคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทย นายพิสิษฐ์ บอกว่าขอทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวข้องไปบาลานซ์ 3 พรรค ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร

กฎหมายที่เสนอโดยพรรคไหนก็ตาม ผ่านมาถึงวุฒิสภา หากไม่ถูกต้อง ชอบธรรม เราคงไม่เห็นชอบ เช่น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ผมก็ไม่เห็นชอบต้องยับยั้ง

วุฒิสภาไม่ได้เป็นแค่ตราประทับ

ไม่ได้เป็นตราประทับของใคร

ขอให้ประชาชนจับตาดูได้ทุกเรื่อง กฎหมายฉบับใด เรื่องใดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน วุฒิสภาประทับตราผ่านให้แน่นอน ขอย้ำอีกครั้งหัวใจหลักของทุกเรื่อง ยึดประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

เปิดสมัยประชุมรัฐสภาต้นเดือน ธ.ค.67 วุฒิสภาเดินเครื่องตรวจสอบรัฐบาลอย่างไร นายพิสิษฐ์ บอกว่า กระบวนการตรวจสอบเริ่มทำตามกลไกของวุฒิสภาแล้ว สมัยประชุมหน้าคงเริ่มตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป

ขอให้โอกาสรัฐบาลทำงาน 1 ปีก่อน หลังเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากนายเศรษฐา ทวีสิน เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เช่นเดียวกัน สว.ต้องขอโอกาสทำงานด้วยเหมือนกัน เพราะทุกคนมือใหม่หมด พยายามเรียนรู้เต็มที่ ทำงานให้ประชาชนและประเทศชาติ

ทิศทางนิรโทษกรรม และแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของวุฒิสภาเป็นอย่างไร นายพิสิษฐ์ บอกว่า วุฒิสภายังไม่ได้พูดคุยในเรื่องนี้ ขอให้ร่างกฎหมายมาถึงชั้นวุฒิสภาก่อน

ส่วนตัวก็ไม่เอาแก้ไขมาตรา 112 แต่การนิรโทษคดีนี้ ขอดูรายละเอียดเป็นคดีๆไป เพราะเท่าที่ติดตามข่าวสารตามสื่อแขนงต่างๆ บางคดีถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกลั่นแกล้งกัน

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่าแก้ทั้งทีควรทำทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ต้องเริ่มจากผ่านกฎหมายประชามติ เป็นกุญแจเปิดบานประตูนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

แต่ในมุมมองส่วนตัวยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีปัญหาเปิดโอกาสให้อำนาจประชาชนร้องได้ทุกเรื่องที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัว

ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ รัฐบาลประกาศเข้ามาสลายขั้วสีเสื้อนำไปสู่ปรองดอง วุฒิสภาชุดนี้จะนำพาประเทศไปสู่อะไร นายพิสิษฐ์ บอกว่า ระบบรัฐสภาที่ดี ไม่ซ้าย ไม่ขวา ยืนอยู่ขั้วประชาชน ถ่วงดุลฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

เป็นจิ๊กซอว์บาลานซ์รัฐบาล–ตุลาการ

เชื่อมั่นขั้วเสื้อสีก็คลี่คลายสลายไปเอง

มั่นใจอย่างไรกับบทบาทของวุฒิสภาที่ความหวังของประชาชนและประเทศ นายพิสิษฐ์ บอกว่า มั่นใจ เชื่อมั่นใน สว.ทุกคนทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพเต็มที่แน่นอน

วุฒิสภาตั้งหลักปักธงเพื่อประเทศ–ประชาชน

อย่าห่วงไม่นำประเทศไทยไปสู่วิกฤติแน่นอน.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม