เรื่องที่ 69 ใน  “หมายเหตุ เฟซบุ๊ก” กุสุมา 80 สาวนักเล่านิทาน ที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมี เล่าไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2566 เหมือนท่านไปยืนบนภู ชี้ทางให้คนที่เวียนวน งงๆหลงป่า อ่านพันหนึ่งทิวา ทีละเรื่องๆ จับต้นชนปลายไม่ได้อย่างผมได้เห็นทางออกโล่ง

อาจารย์เริ่มต้นว่า สาวเปอร์เซียนางหนึ่ง ชื่อเซเฮรซาเด ธิดา อำมาตย์พระราชา องค์ที่มีความแค้นชายาไม่ซื่อสัตย์ แก้แค้นชายาองค์เดียวไม่สะใจ ทรงแก้แค้นสตรีทุกคนที่ทรงนอนด้วย

สั่งอำมาตย์หาหญิงสาวมาถวายคืนละหนึ่งคน รุ่งเช้าก็ประหาร

“ชอบกลนัก น่าจะให้คุยกับจิตแพทย์”

คำวิพากษ์ที่สุภาพของผู้หญิงด้วยกันแบบอาจารย์ ผมว่านะ! ฟังแล้วไม่เจ็บซักเท่าไหร่?

อำมาตย์ทำตามรับสั่ง วันแล้ววันเล่า จนไม่รู้ว่าจะไปหาผู้หญิงจากที่ไหนมาถวาย ออกอาการเป็นทุกข์ นางเซเฮรซาเดเห็นแล้วก็เข้าไปอาสาบิดา ขอเข้าไปถวายตัวแก้ปัญหาเอง บิดาทักไม่เป็นผล ก็ยอมตามนั้น

คืนแรก หลังนางเซเฮรซาเด ปรนนิบัติหน้าที่ชายาแล้ว นางก็ทูลขอให้น้องสาวเข้าไปฟังนางเล่านิทาน

สถานการณ์ติดพัน พระราชาก็ทรงฟังด้วย

นางเล่านิทานไปจนใกล้รุ่ง ซึ่งถ้าเป็นสตรีอื่น นั่นคือเวลาประหาร แต่นิทานที่นางเล่าเร้าใจ ยังไม่จบบ้าง มีเรื่องเล่าแทรกเข้ามาบ้าง

ทุกเรื่องที่ทิ้งท้าย ทำนอง โปรดติดตามตอนต่อไป พระราชาก็ทรงติดพระทัย โปรดเรื่องเล่า เลื่อนการประหารออกไป สถานการณ์ เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องยาวนาน ถึง 100 1 คืน

แล้วก็ถึงวันนั้น “หมดเรื่องเล่า แล้วพระเจ้าข้า!” นางเซเฮรซาเด กราบทูลพระราชา

แล้วขอเวลา พบหน้าราชโอรสทั้งสามองค์

อ้าว! ผู้เล่าขยักไว้ ไม่ได้บอก เวลาหนึ่งพันกับหนึ่งคืนของการเล่านิทาน มีงานใหญ่สลับฉาก คือนางท้องคลอดโอรสมาสามพระองค์

...

อาจารย์กุสุมา เล่าด้วยสำนวนง่ายๆ ใครเป็นพระราชาองค์นั้น จะตัดใจประหารนางตามกติกาได้หรือ?

แทนคำสั่งประหาร กลายเป็นราชโองการสถาปนา นางเซเฮรซาเด เป็นพระราชินี

ในป่าที่หนาแน่นด้วยนิทาน ที่ทำให้คนอ่านที่ไม่ประสาอย่างผมหลง อาจารย์กุสุมา อธิบายนิทานเปอร์เซียบชุดนี้ ชื่อ หนึ่งพัน

นิทาน ได้แนวคิดเรื่องการเล่านิทานเพื่อไถ่ชีวิตตนเองมาจากนิทานอินเดีย

ต่อมา มีผู้แปลเป็นภาษาอาหรับ เรียกว่า “หนึ่งพันและหนึ่งคืน” มีการแต่งเติมเรื่องเล่าเข้าไปครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงฉบับแปลเป็น

ภาษาตะวันตกทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ฉบับแปลภาษาไทย เรียกว่า พันหนึ่งราตรี หรืออาหรับราตรี

อาจารย์กุสุมา บอกว่า ที่จริงไทยเรามีเรื่องของสาวสวยเจ้าปัญญานักเล่านิทานนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

นางนั้น ชื่อนางตันไตรย

เรื่องเล่าของนางต่างกับเรื่องของเซเฮรซาเด สนุก คมคายและประเทืองปัญญากว่า

แต่เพราะเรื่องนางตันไตรย ซ่อนอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุด นักอ่านไทยที่ไม่ค่อยเข้าห้องสมุด จึงรู้จักนางเซเฮรซาเดมากกว่า

บทสรุปจากเฟซบุ๊กอาจารย์กุสุมา ทำให้ผมตั้งใจอ่านหนังสือนิทานนางตันไตรย ที่อาจารย์กุสุมาเรียบเรียง...ไปเรื่อยๆ อ่านแล้วก็พอรู้ว่า เป็นนิทานชุดเดียวกับปัญจตันตระ หลักสูตรสร้างนายกฯ หกเดือน

เขียนบางเรื่องไปแล้ว และก็ตั้งใจจะเขียนต่อไปอีกหลายเรื่อง 

ไปหาซื้อนิทานนางตันไตรยมาอ่าน เติมสติปัญญากันนะครับ 250 บาท เท่านั้น รายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้ภาควิชาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม