อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย คงจะหายใจโล่งอกไปนาน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่รับคำร้องที่กล่าวหาว่าใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงว่ากระทำการตามที่ถูกร้องถึง 7 ประเด็น

คำวินิจฉัยของศาลระบุว่า การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะต้องมีข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในระดับที่วิญญูชนคาด เห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง การกระทำเช่นนี้ต้องดำเนินการอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ อาจถือได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ชัดเจน

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องนี้ อัยการสูงสุดเคยตอบคำถามศาลว่า เป็นคำร้องที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การล้มล้างการปกครอง ตรงกับความเห็นของนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ว่าตนอ่านคำร้องมากี่รอบแล้ว ไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง จึงคิดว่าจะต้องฟ้องผู้ร้อง คือ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ฐานทำให้เสียหาย

มีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่า “นักร้อง” บางคนเป็นคนหิวแสง บางคนอาจหิวผลประโยชน์อื่นๆมีเสียงเล่าลือกันว่า มีการรับจ้างเขียนคำร้องด้วย และมีการกล่าวหาว่า นักร้องบางคนรับงานมาจากพรรคการเมือง ที่เป็นปรปักษ์ทางการเมือง

บทบัญญัติห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพิ่งจะมีเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 จากรัฐธรรมนูญที่มีมา 20 ฉบับ และก่อให้เกิดปัญหาในการตีความ เช่น คำร้องที่ กล่าวหาฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่สามารถตีความอย่างกว้างขวาง

...

เห็นได้ชัดว่า คำวินิจฉัยเรื่องที่นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยถูกร้อง มีการกล่าวหาถึง 7 ประเด็น กล่าวหาว่าใช้ สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนเป็นพิเศษ เช่น ระบุว่าการกล่าวหาว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองจะต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน ต้องเป็นเรื่องที่ดำเนินการอยู่

ไม่ใช่เรื่องที่เป็น “จินตนาการ” บทบัญญัติเรื่องนี้ เป็นกฎหมายที่ดีเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ที่ให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบหรือร้องเรียนการกระทำที่มิชอบ แต่ประเทศไทยอาจมีปัญหาในด้านปฏิบัติ ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย การตีความ การป้องกันการกลั่นแกล้ง ไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือการทุจริตฉ้อฉล

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม