การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 คงเป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับสภาชุดนี้ เพราะถึงตอนนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ไปถึงจุดที่จะดำเนินการได้ทัน

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดได้บัญญัติไว้ว่าการแก้ไขจะต้องผ่านการทำประชามติถึง 3 ครั้งถึงจะดำเนินการได้

แม้จะมีการเสนอว่าทำแค่ 2 ครั้งก็พอ แต่ก็ไม่มี สส.คนใดกล้าหาญที่จะทำเช่นนั้น

ล่าสุดการประชุม กมธ.ร่วมระหว่าง สส.และ สว.ก็มีมติ 13 ต่อ 9 ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติจะต้องทำแบบ 2 ชั้น

คือจะต้องใช้เสียงข้างมากในขั้นแรก และเสียงข้างมากในขั้นเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

เมื่อยืนยันเช่นนั้นก็ต้องทิ้งร่างนี้เอาไว้ 180 วัน คือ 6 เดือนจากนั้นให้สภาผู้แทนลงมติรับรองว่าจะยืนยันหลักการนี้หรือไม่

หากไม่ยืนยันก็ตกไป

หรือยืนยันก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย

ด้วยขั้นตอนและการดำเนินการในรูปแบบนี้จึงไม่สามารถที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ในสภาชุดนี้ เพราะเงื่อนเวลาไม่ให้

แม้แต่การตั้ง ส.ส.ร.ที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้

เห็นคณะทำงานบางคนบ่นกันพึมด้วยความเสียดาย เพราะอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลที่เดินหน้าเพื่อให้มีการแก้ไขด้วยการประกาศชัดเจนตอนหาเสียงก็หมดปัญญาที่จะหาทางดำเนินการได้

หรือแม้แต่จะแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ได้แก้ทั้งฉบับก็คงทำได้ลำบาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ไม่เห็นด้วย

คือไม่ต้องการแก้ไขทั้งฉบับและรายมาตรา!

ชัดเจนคือ “ภูมิใจไทย” แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ตามเพราะที่ “เพื่อไทย” จะแก้ไขเป็นรายมาตราในประเด็น “จริยธรรม” ก็คัดค้านออกหน้าออกตามาแล้ว

แต่ที่เป็นโต้โผใหญ่ในการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ สว.สายสีน้ำเงินที่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา

...

ตั้งแต่การสวนหลักการของ สส.ที่ให้การออกเสียงการทำประชามติเพียงชั้นเดียว แต่ สว.กลุ่มนี้ยืนยันว่าจะต้องทำ 2 ชั้น ทำให้กระบวนการดำเนินการที่วางเอาไว้ต้องล่าช้าออกไปจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน

ก็ชัดเจนแล้วว่า สว.กลุ่มนี้ และพรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนที่ตรงกัน จะเป็นเพราะเป็นพวกเดียวและมีแนวคิดตรงกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ภูมิใจไทย” นั้นต้องการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไปเพราะน่าจะเอื้อประโยชน์แก่พรรคเขามากกว่า

ที่สำคัญคือหากมีการแก้ไขอาจจะมีบางพรรค หรือ ส.ส.ร.บางกลุ่มจะแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันได้

เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมก็คือไม่ต้องแก้ไข...

สว.ก็คงมีแนวคิดไม่ต่างกันมากนัก แต่ที่มากกว่าก็คือต้องการให้คงไว้ซึ่งอำนาจและภารกิจที่ดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมาะสมแล้วจึงไม่ควรแก้ไข

แม้จะถูกตัดอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีอำนาจที่สำคัญๆอย่างเช่น การพิจารณางบประมาณ การแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ

ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบังคับให้การแก้ไขทำได้ยากแล้ว

แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐธรรมนูญก็มีความสำคัญไม่น้อย

“เพื่อไทย” ก็ต้องไปแก้ตัวแก่ประชาชนเองว่าทำไมทำไม่ได้ตามคำสัญญา

“ประชาชน” ก็ทำใจได้เลยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าไม่มีเสียงสนับสนุนพอก็ทำได้ยาก!


"สายล่อฟ้า"

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม