“ไอติม พริษฐ์” พบประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปัดเข้ามากดดันก่อนพิจารณาคดี “ทักษิณ” ถูกร้องล้มล้างการปกครอง มองสัญญาณบวกประชามติ 2 ครั้ง ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 อ้างอิง

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาตามนัดหมายที่ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ได้ออกหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหวังจะหาทางออกให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยพบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญวันนี้เป็นคิวแรก

นายพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือว่า ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงว่าประชามติควรทำกี่ครั้ง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2564 พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย ตีความคำวินิจฉัยว่าต้องประชามติ 2 ครั้ง แต่มีบางฝ่ายไปตีความต้องทำ 3 ครั้ง วันนี้จึงมาหารือเพื่อหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะขยายความให้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวระบุว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง หวังว่าจะได้รับความชัดเจนกลับมาว่าการทำประชามติ ต้องทำเพียง 2 ครั้ง ถ้าเราได้ความชัดเจนในวันนี้เราก็มีกำหนดเข้าพบอีก 2 ฝ่าย คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 พบประธานรัฐสภา เพื่อชี้แจงว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว จะทำให้ประธานรัฐสภามีความสบายใจมากขึ้น และก็ทบทวนการออกแบบก่อนหน้านี้ รวมถึงบรรจุร่างแก้ไขเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้านี้ และเราจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีกำหนดวันเข้าพบ แต่คิดว่าถ้าเราได้รับความชัดเจนในวันนี้ก็จะมีความหวังมากขึ้นว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ทำการเลือกตั้งครั้งหน้า

...

เมื่อถามว่าการมาหารือในวันนี้จะเป็นการกดดันกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ล้มล้างการปกครอง ในวันพรุ่งนี้ (22 พฤศจิกายน 2567) หรือไม่ นายพริษฐ์ ตอบว่า วาระการหารือครั้งนี้ถูกกำหนดไว้มาก่อนแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ถ้าพูดในนามของพรรคประชาชน ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในมุมหนึ่งมีแน่นอนถึงการกระทำบางอย่างที่เราในฐานะพรรคฝ่ายค้านตรวจสอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับนายทักษิณ MOU 2544 เกาะกูด แต่ในมุมมองของพรรคประชาชน มองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ควรจะนำไปสู่การยุบพรรค อย่างที่พรรคประชาชนพูดมาตลอด

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นแบบไม่เป็นทางการ พบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่พูดคุยกันไม่ใช่ความเห็นของทั้งองค์คณะ โดยจากการหารือเราได้มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งระบุไว้ชัดในย่อหน้าสุดท้ายว่า มีการพูดถึงประชามติ 2 ครั้ง คือ 1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง การหารือกันของความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแสดงความเห็นว่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ส่วนการทำประชามติทั้งก่อนและหลัง ขั้นตอนเป็นสิ่งที่ทางรัฐสภาต้องตัดสินใจร่วมกัน แต่ข้อเสนอที่พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย คือให้ทำประชามติ 2 ครั้ง จากการหารือก็ดูแล้วเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะนำไปหารือกับประธานรัฐสภา หวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่รัฐสภา

เมื่อถามถึงผลการหารือทำให้มั่นใจขึ้นหรือไม่ว่าหากมีผู้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ นายพริษฐ์ ตอบว่า อย่างที่บอก การหารือไม่มีใครแสดงความคิดเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ก็พูดถึงการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง แต่ 2 ครั้งจะเกิดขึ้นตอนไหน ก็เป็นสิทธิบางกลุ่มอาจจะยื่นได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะไปคาดการณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ถึงคำวินิจฉัยที่จะออกมาคงไม่ได้ แต่เชื่อว่าผลที่ออกมาจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คำถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่สภาจะเสนอให้ตีความว่ากฎหมายประชามติเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอ นายพริษฐ์ ระบุว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่นายชูศักดิ์เสนอ จึงขอไม่ให้ความเห็น คือถ้าเราไม่อยากให้ความล่าช้าของ พ.ร.บ.ประชามติ เป็นปัญหา ก็หันมาใช้กลไกหรือโรดแมปประชามติ 2 ครั้ง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี.