การเดินหน้าเอ็มโอยู 2544 “ระหว่าง ไทย-กัมพูชา” บนเส้นเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยยังคงเป็นประเด็นร้อนให้สังคมหยิบยกมาถกเถียงอย่างกว้างขวางโดยกระแสเรียกร้องให้ “ยกเลิก” เนื่องจากคนไทยบางกลุ่มยังมีความกังวลจะเสียดินแดน หรือเสียอธิปไตยเพิ่มขึ้นในอนาคต

ถ้ามาทำความเข้าใจ “เอ็มโอยู 44” ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเนื้อที่ 26,000 ตร.กม.แบ่งกรอบเจรจาเป็น 2 ส่วนคือ “ปักปันเขตแดนทางทะเล” พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือพื้นที่ 10,000 ตร.กม.ให้ชัดเจน “พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน” ในพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือพื้นที่ 16,000 ตร.กม.

มีเงื่อนไขสำคัญต้องทำ 2 เรื่องแบ่งแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะสมัยนั้นไทยไม่เห็นด้วยกับกัมพูชาลากเส้นเขตแดนปี 2515 เข้ามาพัวพัน “เกาะกูดที่มั่นใจเป็นของไทยล้าน%” ตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907

ดังนั้น “กัมพูชา” ต้องการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมก็ต้องแก้ปัญหาเขตแดนด้วย แต่ต้องยอมรับว่า “ไทย” ก็ต้องการใช้ปิโตรเลียมเหมือนกันจนฝ่ายการเมือง ฝ่ายด้านเศรษฐกิจ หรือฝ่ายเกี่ยวกับพลังงานต่างเห็นว่าเจรจาเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือให้ชัดเป็นไปได้ยาก ก็เสนอให้เจรจาผลประโยชน์ในปิโตรเลียมไปก่อน

กระทั่ง “กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)” ออกมายืนยันหนักแน่น ว่า “ทำแบบนั้นไม่ได้ต้องทำ 2 เรื่องควบคู่กัน” ทำให้การเจรจาภายใต้กรอบเอ็มโอยู 44 เดินหน้ามาแบบไม่มีความคืบหน้าคาราคาซังมาจนวันนี้ เรื่องนี้ คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หนึ่งในผู้ที่ศึกษาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมานานให้ความเห็นว่า

...

จริงๆ ถ้าย้อนดู “เอ็มโอยู 44” ทำขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 (รธน.) ตาม ม.224 การทำหนังสือสัญญาเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ว่าเอ็มโอยู 44 ยังเป็นเพียงกรอบการเจรจาเท่านั้นยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตอำนาจแห่งรัฐไทยใดๆทั้งสิ้น

ทำให้ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี “ยังไม่ต้องนำเข้าให้สภาเห็นชอบ” แต่หากการเจรจาไปตามกรอบนี้จนมีข้อตกลงกันแล้ว “ต้องทำเป็นสนธิสัญญา” คราวนี้จะต้องนำเข้าสภาเห็นชอบจริงๆ

พอมาถึง “รธน.2560” กำหนดแนวคล้าย รธน.2540 “กรอบเจรจาไม่ต้องผ่านสภา” แต่เพิ่มเติมกรณีออกหนังสือสัญญาอื่นอันกระทบ เศรษฐกิจ สังคม ต้องนำเข้าสภาเห็นชอบ เช่น เขตเสรีทางการค้า หรือเขตศุลกากรร่วม โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากร การสูญเสียทรัพยากรบางส่วน หรือทั้งหมด ตรงส่วนนี้อาจเข้าค่าย ม.178 รธน.2560

เรื่องนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงมองแล้ว “เอ็มโอยู 44” ยังไม่มีข้อตกลงเปลี่ยนแปลงเขตแดน การใช้ทรัพยากร หรือสูญเสียทรัพยากรใดๆ “ไม่อาจตีความให้ต้องผ่านสภาเช่นนั้น” เว้นตกลงเขตแดนใหม่หรือแบ่งปันทรัพยากรแล้วทำสนธิสัญญาต้องนำเข้าสภาแน่ๆเมื่อยังถกเถียงกันแบบนี้ตาม ม.178 วรรคสุดท้าย “ครม.” ถามต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

และมีคำถามต่อว่า “เอ็มโอยู 2544 เป็นการยอมรับพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่” ถ้าดูตาม กต.แถลงได้ชี้ชัดว่า “ไทยไม่ได้ยอมรับความถูกต้องตามเส้นเขตแดนของกัมพูชา” เพียงแต่ยอมรับความคงอยู่เพื่อให้เกิดการเจรจาต่อกันแล้ว “กัมพูชา” ก็ไม่ยอมรับความถูกต้องของเส้นฝ่ายไทยในพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเช่นกัน

“สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาคือพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนืออันมีพื้นที่ค่อนข้างเยอะตามเอ็มโอยู 44 ไม่ต้องเจรจาเขตแดนให้เจรจาแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน แต่การที่เราไปยอมรับเส้นกรอบแบ่งผลประโยชน์ตรงนี้อาจจะเป็นผลเสียหรือไม่ในกรณีที่จะต้องแบ่งเขตแดนกันในอนาคต ซึ่งเป็นรายละเอียดต้องโต้แย้งกันต่อไป” คำนูณว่า

ประเด็นเดินหน้าเอ็มโอยู 44 “ไทยได้อะไรเสียอะไร” เรื่องนี้มีข้อสรุปไทยมีโอกาสได้สอง-เสียสาม คือ ได้ที่ 1“ผลประโยชน์ส่วนแบ่งปิโตรเลียม” ในการพัฒนาทรัพยากรพื้นที่ทับซ้อนร่วมไทย- กัมพูชา 16,000 ตร.กม. ส่วนจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และมูลค่าสัมปทานในการผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นจริงน่าจะหลักล้านล้านบาท

ได้ที่ 2 “ไทยได้เขตไหล่ทวีปใหม่” ที่ต้องตกลงกับกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือให้ได้ในฐานะเจรจาแบบแพ็กเกจร่วมกับพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ “กำหนดให้ทำพร้อมกันแบ่งแยกกันไม่ได้” แน่นอนไทยคงไม่ได้พื้นที่เต็มตามที่ขีดเส้นเขตแดนในปี 2516 “กัมพูชา” ก็ไม่ได้ตามเส้นเขตแดนปี 2515 เช่นกัน

แนวเส้นเว้าอ้อม “เกาะกูดรูปตัว U” ตามผังท้ายเอ็มโอยู 44 จะเปลี่ยนอาจขยับเขตไหล่ทวีปส่วนกลางยอดเกาะ และส่วนปลายทางทิศตะวันตกลงมาทางใต้ “เกาะกูด” จะไม่ถูกรุกล้ำเส้นใด และมีทะเลอาณาเขตเหลือแน่ๆ

ในส่วน “ไทยเสียสาม” จำแนกอย่างนี้ “1.เสียผลประโยชน์ส่วนแบ่งปิโตรเลียม” ที่เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เราควรได้มากกว่านี้ หรือควรเป็นของเราทั้งหมดหรือไม่ที่อาจได้หลายล้านล้านบาทนั้นก็จะเกิดบนฐานรูปพรรณสัณฐานเขตพัฒนาร่วม (JDA) ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือถูกกำหนดไว้ตายตัว

เสียที่ 2 “เสียเขตแดนทางทะเล” ในการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตร.กม.เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ทำให้พื้นที่นั้นต้องลดหดหายไปจากเส้นเขตไหล่ทวีปที่ประกาศไว้เมื่อปี 2515 ในกรณีของกัมพูชา และปี 2516 ในกรณีของไทยกำหนดไว้นั้น

เสียที่ 3 “อาจเสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต” ไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปีการตกลงแบ่งเขตแดนสำหรับพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 16,000 ตร.กม. “ยังไม่รู้จะแบ่งกันอย่างไร” แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าคงไม่เป็นไปตามเส้นเขตไหล่ทวีปปี 2516 ของไทยแน่นอน แนวโน้มก็อาจจะกำหนดเส้นแบ่งเขตกึ่งกลางได้คนละครึ่งไปก็ได้

ประการถัดมา “กรณีเรียกร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44” ในเรื่องนี้มี 2 ด้านอย่างข้อดีตามที่ กต.ยืนยันจะแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมอย่างเดียวไม่ได้ต้องเจรจาแบ่งเขตแดนควบคู่ไปด้วย ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะแบ่งเฉพาะผลประโยชน์แล้วไม่พูดเรื่องเขตแดน “หากตกลงกันไม่สำเร็จ” ก็ต้องอยู่ในสถานะเดิมต่างฝ่ายไม่ได้ไม่เสียอะไร

สำหรับ “ข้อเสียการยกเลิกเอ็มโอยู 44” อนาคตก็ไม่มีใครรู้ กรอบการเจรจาใหม่จะเป็นแบบใด ถ้าหากกรอบใหม่ออกมาว่าไม่ต้องเจรจาเขตแดนกันแล้วแต่ให้แบ่งผลประโยชน์กันตลอดแนวก็จะแย่กว่าเอ็มโอยู 44 ก็ได้

ฉะนั้น หากรัฐบาล และ ครม.มั่นใจตามที่อ้างว่า “เอ็มโอยู 2544 มีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย” สามารถเดินหน้าดำเนินการตามนั้นได้เต็มที่ แต่การตัดสินใจอะไรออกไปก็ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนั้นด้วย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม