คงจะเอือมระอาเต็มที มีบางคนตะโกนดังๆ ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงเวลาไล่ “นักร้อง” ลงจากเวทีไปได้หรือยัง? ไม่ได้หมายถึงนักร้องผู้สร้างความบันเทิงให้แก่ประชาชน แต่หมายถึงนักร้องทางการเมือง ที่ชอบร้องเรียนนักการเมืองที่ไม่ชอบหน้า นับแต่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเข้าปฏิบัติหน้าที่ ถูกบรรดานักร้องร้องไม่รู้กี่ครั้ง
การร้องเรียนทางการเมือง ซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดในขณะนี้ ผู้ร้องอาจมุ่งหวังผลสำคัญทางการเมือง เช่น ร้องให้ยุบพรรค หรือถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อกลั่นแกล้งคู่ปรปักษ์ได้ นับแต่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 เป็นต้นมา “นักร้อง” ชนะสำคัญสองครั้ง
ครั้งแรก อดีต 44 สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.ประสบชัยชนะอย่างผิดความคาดหมาย ด้วยการร้องให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กรณีนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ เพราะถูกจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานหมิ่นอำนาจศาล
เป็นผลของการกระทำของนายพิชิตในขณะที่เป็นทนายของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นายพิชิตนำถุงขนมบรรจุเงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาล โดยเจตนาจะติดสินบนศาล คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า นายเศรษฐามีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ
ตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้พ้นตำแหน่ง
ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของ “นักร้อง” คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 คณะตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ เป็นการยุบพรรคของสีส้มเป็นครั้งที่สอง ต่อจากพรรคอนาคตใหม่
...
ความผิดที่ใช้ในการยุบพรรค มีทั้งการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ม.49 และ กฎหมายพรรคการเมือง ม.28 และ ม.92 ม.28 ห้ามพรรคยินยอมให้คนที่มิใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ และชี้นำกิจกรรมพรรค จนขาดความเป็นอิสระ คำว่า “ชี้นำ” คืออะไร?
เป็นการห้ามคนนอก ไม่ให้ชี้แนะพรรค เพื่อดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อประเทศชาติและประชาชน เช่น การแก้ปัญหาปากท้อง การขจัดความยากจน และความเหลื่อมล้ำใช่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ใช่” กฎหมายพรรคการเมืองของไทย จะเป็นสิ่งพิสดารวิตถารที่สุด ไม่มีประเทศใด ในโลกประชาธิปไตยที่จะห้ามประชาชนชี้นำพรรคในทางที่ถูกต้อง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม