ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ที่สองพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งคราวหน้า อันได้แก่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนได้เริ่มต้นหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการประกาศนโยบายแข่งกัน เพื่อเอาชนะใจประชาชน พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลสัญญาจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมทั้งการแก้หนี้ประชาชน

ตามด้วยมาตรการกระตุ้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ ปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ด้วยการพักดอกเบี้ย ดำเนินโครงการประชานิยมลดแลกแจกแถมต่อ ด้วยการแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ตามความเชี่ยวชาญคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะโตดี เหมือนกับไตรมาสที่ 3 ที่โต 3%

ฝ่ายพรรคคู่แข่งคือพรรคประชาชน ประกาศเปิดตัวผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พร้อมกันกับ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน มุกดาหาร หนองคาย ตราด ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และนนทบุรี นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ประกาศว่ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ

ยืนยันว่าผู้สมัครนายก อบจ.ล้วนแต่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ อาสาเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งกระจายอำนาจ ตามนโยบาย 5 ด้าน นั่นก็คือนํ้าประปาดื่มได้ นํ้าเพื่อการเกษตรมีทั่วถึงตลอดปี การขนส่งมวลชนบนถนนทั่วถึง สาธารณสุขบริการทั่วถึง อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมด อบจ.โปร่งใส ทำงานรับใช้ประชาชน

แม้จะเป็นการแข่งขันกันด้วยนโยบาย แต่เห็นได้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยเน้นนโยบายระดับชาติ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน แต่พรรคประชาชนเน้นนโยบายหาเสียง ในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบจ.ที่กำลังทยอยเลือกตั้งติดต่อกันหลายจังหวัด แต่พรรคเพื่อไทยมุ่งการเลือกตั้ง สส. ซึ่งต้องรออีกหลายปี

แต่การหาเสียงด้วยการแข่งขันกันเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ต้องถือว่าเป็นวัฒนธรรมการเมืองอันดี ที่ถือปฏิบัติกันในนานาประเทศ ที่เป็นอารยประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ตรงกันข้ามกับประเทศประชาธิปไตยที่ด้อยพัฒนา มักจะหาเสียงด้วยการโจมตีคู่ต่อสู้ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และมักจะตัดสินผลเลือกตั้งด้วยเงิน

...

ทั้งสองพรรคคือพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาชน ขณะนี้เป็นพรรคใหญ่ที่สุด เคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “เสรีนิยม” ในการเลือกตั้ง 2566 ผลก็คือพรรคเพื่อไทยที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย แพ้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในกว่า 2 ทศวรรษ เคยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลแต่ล้มเหลว เพราะผลพวงของการเล่นการเมืองแบบไทยๆที่ฝังแน่น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม