การหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์ การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่กลายเป็นข่าวที่ดังฮือฮาระดับชาติ สาเหตุสำคัญอาจเพราะมีคนดังระดับชาติไปช่วยหาเสียง คนแรกคืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไปช่วยผู้สมัครพรรคเพื่อไทย นายทักษิณไม่ใช่คนธรรมดา แต่โพลระบุว่าเป็นผู้มีอิทธิพลการเมืองมากที่สุด

คนดังคนที่ 2 คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยเป็นผู้นำการเมืองที่ได้รับความนิยมมากสุด จากผลการสำรวจของโพลหลายสำนักและหลายครั้ง ทั้งสองคนไปในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง” ที่ไม่มีตำแหน่งใดๆในทางการเมือง แต่การเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี อาจกลายเป็นสัญญาณชี้การเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า

การเลือกตั้ง สส.คราวหน้าอาจเป็นการชิงชัยระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งสองพรรคเคยต่อสู้กันมาแล้วอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช  ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี แต่ทั้งสองพรรคยังจับมือกันในฐานะ “กลุ่มเสรีนิยม”

ถ้าแยกอุดมการณ์ของพรรค การเมืองไทย เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมและอำนาจนิยม พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน  ซึ่งวิวัฒนาการมาจากพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนอาจอยู่ในกลุ่ม “เสรีนิยม” ด้วยกัน แต่พรรคประชาชนเข้มข้นกว่า นายทักษิณเคยแนะนำว่าไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ๆออกมามากมาย

อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย แนะนำ สส.พรรคประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ให้โละทิ้งกฎหมายเก่าๆ ล้าสมัย ดีกว่าจะมาเสียเวลาคิดออกกฎหมายใหม่ๆ พรรคประชาชนเสนอออกกฎหมายใหม่มาแล้วถึง 80 ฉบับ มีทั้งกฎหมายด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ทราบว่าสัมฤทธิผลแค่ไหน เพราะเป็นแค่ผู้นำฝ่ายค้าน

...

ขณะที่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น กำลังจะมีขึ้นทั่วประเทศ มีพรรคใดเสนอให้ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นหรือไม่ เพราะระบบที่เป็นอยู่ล้าหลัง เป็นมรดกตกทอดมาจากการปกครองแบบรัฐราชการรวมศูนย์ แบ่งการปกครองเป็นส่วนกลาง ส่วน ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่มีอำนาจส่วนภูมิภาคขี่คออยู่

ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก แบ่งการปกครองเป็นแค่ 2 ส่วน คือส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ไม่มีส่วนภูมิภาค ในระดับจังหวัดมีเพียงผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีนายก อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากเลือกตั้ง แบบเดียวกับ กทม. รัฐธรรมนูญบางฉบับเช่น 2550 เขียนแนะนำไว้ว่าให้ “พัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่” เหมือน กทม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม