ผู้ที่ติดตามข่าว MOU 44 อยู่ หรือเคยอยู่ในทีมงานที่เจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่แหล่งพลังงานในพื้นที่ JDA ของไทย กับ มาเลเซีย มาจนถึงพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย กับ กัมพูชา 26,000 ตร.กม. ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่า จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทะเล ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน กันตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 หรือที่เรียกว่า MOU 44 เป็นต้นมา ย่อมรับรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกความเป็นคนไทยว่าการที่มีนักการเมือง และบรรดาคน “คลั่งชาติ” ที่ยังประสงค์จะล้มรัฐบาล หยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตี เพื่อให้คนไทยเกิดความสับสน และเกลียดชังรัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาว่า 

รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนบน “เกาะกูด” ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้ไป ถึงขั้นกดดันให้รัฐบาลต้องตัดสินใจยกเลิก MOU ฉบับนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะยกขบวนกันมาล้มรัฐบาล 

พูดง่ายๆ เลยดีกว่าว่า ประสงค์จะจุดความเท็จขึ้นเพื่อล้มล้างรัฐบาลชุดนี้ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศไทยจริงๆ เลยว่า ถ้าฉีกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว จะเกิดผลเสียหายต่อสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศอย่างไร และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กว่าจะทำ MOU ฉบับใหม่ขึ้นมาได้อีก 

ปูมหลัง และที่มา ของ เกาะกูด

ผลประโยชน์ทางด้านปิโตรเลียม

ใน MOU 44 ระบุ ชัดเจนว่า เกาะกูด เป็นของประเทศไทย จากสนธิสัญญาระหว่างสยาม กับ ฝรั่งเศส ที่ในหลวง ร.5 ทรงเอาพื้นที่คืนมาได้ ในปี ค.ศ.1907 บันทึกไว้ว่า เกาะกูดเป็นของสยาม และเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด ขณะที่ กัมพูชาเองก็ไม่เคยอ้างสิทธิใดๆ ว่า เกาะกูดเป็นของประเทศเขา 

...

ในประเด็นที่พยายามจะกล่าวหาว่า MOU 44 ยอมให้รัฐบาลกัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูด เท่ากับว่า ไทยเสียเกาะกูดไปแล้วใช่หรือไม่ 

คำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศคือ ไม่ใช่ เพราะนอกจากกัมพูชาจะไม่เคยอ้างสิทธิในเกาะกูดแล้ว ความเป็นจริง รัฐบาลเขายังลากเส้นเว้นเกาะกูดไว้เป็นพื้นที่คล้ายขนมครกด้วย แม้การประกาศเขตไหล่ทวีป จะยังเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกเยอะเพราะไม่ชอบด้วยกฏหมาย ก็ตามที

ล่าสุดในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คณะเจรจาพื้นที่ทับซ้อน(Overlapping Claims Areas: OCA) ของ 2 ประเทศ พยายามลดข้อขัดแย้งต่างๆ ลง จนเป็นที่ยอมรับร่วมกันในช่วงรัฐบาล อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน และ นายกฯฮุน มาเน็ต แห่งกัมพูชาว่า ไทย และกัมพูชา จะพัฒนาพื้นที่นี้ร่วมกันเพื่อนำผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมที่มีความซับซ้อนมากกว่าปัญหาด้านการเมือง มาแบ่งกันคนละครึ่ง หรือ 50:50 

จากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เดิมคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันดิบ มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่ประเมินมูลค่าครั้งสุดท้าย อยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท 

ปตท.- ปตท.สผ.รอรับประโยชน์

สร้างรายได้แห่งอนาคตให้ประเทศ

นับเป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่ ซีอีโอ หลายต่อหลายยุค เฝ้ารอคอยความสำเร็จจากการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย กับ กัมพูชา แห่งนี้ เพราะ ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ของปตท.สผ.(สำรวจ และผลิต) ต้องเป็นผู้ดำเนินการร่วมในการขุดเจาะ และนำผลประโยชน์ทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน ขึ้นมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม 

โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ปตท.สผ.จะได้โดยตรง ซึ่งหมายถึงกำไรหลายแสนล้านบาทที่จะเข้าสู่ ปตท.ก่อนที่ พลังงานเหล่านี้ จะถูกลดมูลค่าลงตามลำดับการเข้ามาแทนที่ของพลังงานอื่น

ในนโยบายของ ซีอีโอคนล่าสุด “ดร.เอ้” คงกระพัน อินทรแจ้ง ที่มองเห็นประ โยชน์จากการใช้ ปตท.สผ.ทำงานในหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งนอกจากจะมีฐานการขุดเจาะปิโตรเลียมอยู่หลายแห่งแล้ว แหล่งใหม่ในพื้นที่ทับซ้อน ไทย กัมพูชา ก็ยังพบว่า มีมูลค่ามหาศาลด้วย

สิ่งที่ ปตท.อยากได้อีกเพื่อนำปตท.ทั้งเครือสู่ธุรกิจแห่งอนาคต ก็คือ หลุมขุดเจาะเก่าที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ สำหรับการกักเก็บก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก เพื่อประเทศไทยตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ในปี 2030 - 2050 ขณะเดียวกันก็สามารถขายพื้นที่กักเก็บให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการได้ด้วย

เคยถามตัวเองกันบ้างไหมว่า ทำไมคนไทยเราต้องใช้เวลาตัดสินใจแก้ปัญหาชาติ และพัฒนาประเทศในเรื่องต่างๆ นานนับทศวรรษ บางเรื่องใช้เวลาเกือบศตวรรษ หรือ เกือบ 100 ปี เช่น สนามบินหนองงูเห่า - สนามบินสุวรรณภูมิ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร)

หรืออย่างการสร้างระบบชลประทาน และเขื่อนต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำแล้ง - น้ำท่วมเรือกสวนไร่นา และโบราณสถานทั่วประเทศ ทำไมจึงต้องใช้เวลาตัดสินใจนานมาก และยอมให้ราษฏรเดือดร้อนกันอย่างหนักทุกปี

ถ้าจะค้นหาคำตอบของเรื่องนี้จริงๆ อาจต้องกลับมาดูตัวเองว่า เพราะพวกเราการศึกษาน้อย, ไม่รู้จักสิทธิ และหน้าที่พลเมือง, ชอบอามิสสินจ้าง, เชื่อคนง่าย, กลัวนักเลง และ นักการเมือง ,ไม่กล้าสู้ หรือ ไม่เคยคิดว่า จะทำอะไรให้กับประเทศนี้ นอกจากเอาตัวให้รอดไปวันๆ เป็นต้น...ใช่หรือไม่?!