“นายกฯ อิ๊งค์” สรุปหลังประชุมเอเปก-หารือทวิภาคี ยืนยัน หารือแลกเปลี่ยนเป็นประโยชน์กับประชาชน-ประเทศไทย เล่าย้อนเคยมา APEC กับ “ทักษิณ” เมื่อปี 2004 ครั้งนี้กลับมาในฐานะผู้นำ

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 (ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวที่โรงแรม Swissotel Lima ถึงภาพรวมการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่า สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกเป็นครั้งที่ 3 แล้ว อย่างไรก็ดี ด้วยเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จึงถูกกำชับว่าห้ามเรียกว่าประเทศ แต่ให้เรียกว่าเขตเศรษฐกิจแทน เพื่อให้สมาชิกในเขตเศรษฐกิจทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่แบ่งแยกประเทศ

ในส่วนของไทยก็เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกปี 2565 ภายใต้แนวคิด BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็ยังใช้แนวคิดเดิม โดยมีหัวข้อหลักๆ อาทิ การเสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Include Grow) เพื่อให้สมาชิกเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน อีกทั้งการมาเยือนครั้งนี้ได้มีการขับเคลื่อนการลงทุน ผลักดันให้เกิดการค้าเสรี (FTA) ขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมในเรื่องนวัตกรรม ดิจิทัล และการเติบโตที่ยั่งยืน ทั้งหมดจึงตรงกับนโยบายที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ เพราะขณะนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่เน้นย้ำเรื่องนี้เป็นหลัก ซึ่งไทยเองก็เช่นกัน

...

ส่วนเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกประเทศได้พูดคุยกันถึง Sustainability โดยลงรายละเอียด ว่าจะพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนได้อย่างไร รวมถึงสอบถามอุปสรรคและปัญหาทางภัยธรรมชาติที่เผชิญว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง และจะนำเทคโนโลยี ที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกันมาสนับสนุนได้อย่างไร

สำหรับการประชุมนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) ได้คุยกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจและนักธุรกิจในด้านต่างๆ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และ AI ซึ่งหลายบริษัทสอบถามว่าไทยกำลังอยู่ในจุดไหน จึงตอบไปว่า ตอนนี้ไทยกำลังรับเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี AI, Semiconductor และ Data center โดยมีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจ 3 บริษัท ประกอบด้วย TikTok, Microsoft และ Google จึงเสมือนเป็นการต่อยอดให้มาลงทุนเพิ่มเติมกับประเทศไทย รวมถึงประกาศว่าพร้อมจะสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจว่าหากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุน เพราะแท้จริงแล้ว 3 บริษัทดังกล่าวก็มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงอยากให้มาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

“หากถามว่าประเทศจะได้อะไรจากการลงทุนในครั้งนี้ แน่นอนว่าการลงทุนอย่าง Data center จะทำให้คนไทยเกิดอาชีพใหม่ๆ และเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าตอนนี้ GDP ของไทยเติบโตไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นการหาเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ เพื่อให้คนมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงิน 10,000 บาท รายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดภาพรวมและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ”

ขณะที่การเข้าร่วมกรอบการประชุมต่างๆ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ไทยได้แสดงจุดยืนในเรื่องนโยบายเชิงรุกว่า การศึกษาในไทยรัฐบาลยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่หากติดขัดในเรื่องของภาษา เราก็พร้อมที่จะสนับสนุน ขอให้แต่ละบริษัทมีการฝึกอบรมในรูปแบบของภาษาไทยด้วย เพื่อพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป ขณะเดียวกัน พร้อมสร้างความมั่นใจว่าไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart farming) อย่างแท้จริง

ส่วนการพบหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีเผยว่า ได้พบกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ซึ่งดีมากๆ เพราะเปรูถือเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเอเปกปี 2024 (ปี พ.ศ. 2567) อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงเหมือนกัน จึงมีโอกาสทักทายและพูดคุยกัน พร้อมยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง FTA ระหว่างไทย-เปรู เนื่องจากเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใค (Chancay Port) ได้ไม่นาน จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยได้ด้วย

ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เปรูมีการนำขนอัลปากามาทำเป็นเสื้อ ขณะที่ไทยมีผ้าไหม จึงต้องหาทางว่าจะทำร่วมกันอย่างไรดีเพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมา ฉะนั้นเรื่องนี้ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณากันต่อ เพื่อนำซอฟต์พาวเวอร์ของทั้งสองประเทศมารวมกันให้คนสามารถเข้าถึง เข้าใจได้ง่าย และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเรื่องที่จะร่วมมือกัน เพราะในปีหน้าจะมีงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์จีน-ไทยครบรอบ 50 ปี จึงมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทย เพื่อให้พี่น้องคนไทยสักการะบูชา นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่จีนจะมอบแพนด้ายักษ์มาไทยอีกครั้ง โอกาสนี้ไทยได้กล่าวชื่นชมจีนเรื่องลดความยากจนในประเทศว่าทำได้สำเร็จดีมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้โมเดลของจีนต่อไป สามารถแนะนำมาได้ โดยไทยย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะต้องขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน จึงได้เปิดโอกาสและขอให้ภาคเอกชนของจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจีนยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS

นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายถึงการเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์ว่า มีโอกาสเข้าร่วม 2 ครั้ง คือ งานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner และงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จึงได้สร้างความมั่นใจและขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนมาลงทุนที่ไทย ตลอดทั้ง 3 วัน จึงถือว่าได้ประสบการณ์เป็นอย่างมาก เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำในแต่ละเขตเศรษฐกิจ พอได้คุยกันอย่างเป็นการส่วนตัว ก็ได้คุยกันถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน เราได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของไทยในเวทีโลกด้วยว่า พร้อมแล้วสำหรับการลงทุนและความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของเราและเพื่อนสมาชิก ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันจะทำให้เราสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับไทยได้ง่ายขึ้น โดยในการเจรจาครั้งต่อไปเขาก็จะได้รู้ว่าเรามีตัวตนและมีศักยภาพ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการประชุม APEC CEO Summit ที่ผ่านมา ว่า ได้มีโอกาสพบตัวแทนนักเรียนไทยที่เป็นอาสาสมัครและมาช่วยในการประชุมเอเปกครั้งนี้ โดยสอบถามถึงการมาทำหน้าที่ ซึ่งน้องๆ อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องทุนการศึกษา จึงตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้เด็กไทยมีทุนการศึกษาที่มากขึ้น จึงอยากจะเน้นย้ำถึงการไปศึกษาต่อว่า อยากให้เป็นในสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารธุรกิจและการตลาด เพราะไทยมีดีอยู่แล้ว แต่เรื่องที่เป็นเทคโนโลยีล้ำหน้าอย่าง AI หากเราสามารถสนับสนุนตรงนี้ให้เด็กสามารถไปเรียนต่อในต่างประเทศได้ก็จะถือเป็นเรื่องดี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่าตรงเรื่องนี้กับความต้องการของรัฐบาล การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนกับรัฐบาลจึงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรีติดตามอยู่และขอส่งกำลังใจให้เด็กนักเรียนทุกคน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นถึงความชัดเจนเรื่องทุนการศึกษาที่จะมอบให้นักเรียนเพื่อไปเรียนต่อในต่างประเทศว่าจะชัดเจนเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะตั้งใจในเรื่องนี้มากๆ

น.ส.แพทองธาร ยังได้เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมเอเปกว่า ถือเป็นการมาเอเปกครั้งที่ 2 ครั้งแรกเดินทางมากับบิดา คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ติดตามของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2004 (ปี พ.ศ. 2547) และปีนี้ 2024 ครบ 20 ปีพอดี ครั้งนี้กลับมาในฐานะผู้นำ ตื่นเต้นและแตกต่างจากตอนมากับบิดา เนื่องจากต้องเข้าใจรายละเอียดการประชุมและหัวข้อการประชุม ต้องพูดคุยให้ครบทุกประเด็นที่เป็นประโยชน์กับไทย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เจอกับผู้นำมากมายขนาดนี้

“รู้สึกเสียดายที่สมัยมาประชุมเอเปกเมื่อปี 2004 กับคุณพ่อ ได้มีโอกาสจับมือกับผู้นำหลายคนแต่ไม่มีรูปถ่ายเลย เนื่องจากสมัยนั้นโทรศัพท์มือถือไม่เป็นแบบนี้ แต่ยังดีที่นักข่าวถ่ายภาพไว้ตอนที่ลงเครื่องกับคุณพ่อ”

ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ใช้เวลาหลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น เพื่อดูสินค้าเกษตรและสินค้าพื้นถิ่นของประเทศเปรู ซึ่งมีหลายสินค้าเศรษฐกิจสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเปรูเป็นอย่างมาก และนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทย โดยนายกรัฐมนตรีเลือกซื้อผลไม้สดและให้ความสนใจตูน่า ซึ่งลูกของต้นกระบองเพชร (ตูน่า) ที่รสชาติหวานหอมเหมือนแก้วมังกรผสมกับแตงโม เกิดในทะเลทรายอุ้มน้ำได้ดี น่านำไปปลูกในเมืองไทยเพราะมีอากาศร้อน

นอกจากนี้ ยังสอบถามราคาของแอปเปิลที่ขายในเปรู ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากชิลีและมีราคาค่อนข้างถูก ขณะที่ผลไม้หั่นพร้อมทานเป็นอาหารเช้าของเปรูที่รับความนิยมและมียอดขายดี อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังให้ความสนใจมันฝรั่งของเปรูที่มีมากกว่า 3,000 ชนิด นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายทั่วประเทศ และที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมันฝรั่งทอดกรอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อุดหนุนจากซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีช็อกโกแลตที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของเปรูด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 8 กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู 16 พฤศจิกายน 2567 (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งมีกำหนดการจะกลับถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 11.10 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567