นายกรัฐมนตรีพบหารือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมหารือ US-APEC Business ถกขับเคลื่อนสัมพันธ์การค้า เปิดกว้างความร่วมมือทั้งทวิภาคีและภูมิภาค

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ที่โรงแรมสวิสโซเทล ลิมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ สวมชุดผ้าไหมสีเขียวจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เดินทางออกจากโรงแรมสวิสโซเทล ลิมา ไปยังศูนย์การประชุมลิมา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เพื่อพบหารือทวิภาคีกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยน.ส.แพทองธารกล่าวว่า ยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพของเปรู ไทยและเปรูยังมีแนวคิดเดียวกันในการส่งเสริมประชาธิปไตย และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเปรูในปีหน้านี้อีกด้วย และขอชื่นชมความสำเร็จของเปรูในการเปิดท่าเรือชางใค (Chancay) ซึ่งจะส่งเสริมให้เปรูเป็นประตูการค้าในภูมิภาคละติน ขณะเดียวกันไทยก็มีโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และจะทำให้ไทยเป็นประตูการค้าในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประเทศต่าง ๆ ในละตินอเมริกาได้ จึงเชิญชวนเปรูให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะสาขาที่เปรูมีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ ซุปเปอร์ฟู้ด และยินดีที่ Soft Power ของไทยเป็นที่นิยมในเปรู ทำให้มีแนวคิดที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านแฟชั่น โดยเปรูมีผ้าที่ทำจากขนอัลปาก้ากับผ้าไหมไทย

โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันได้บรรลุความตกลงไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์และเชื่อว่า หากสามารถจัดทำ FTA ให้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว จะยิ่งสามารถเพิ่มการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น

...

หารือ US-APEC Business ขับเคลื่อนสัมพันธ์การค้า

เมื่อเวลา 11.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ที่โรงแรมสวิสโซเทล ลิมา สาธารณรัฐเปรู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือกับ US-APEC Business Coalition โดยน.ส.แพทองธารกล่าวว่าขอบคุณผู้บริหาร US-APEC Business Coalition ที่เป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นกับประเทศไทย รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของนโยบายการเจรจาและการมีส่วนร่วมกับธุรกิจ ย้ำว่า “โอกาส” “ความพร้อม” และ “ความเชื่อมั่น” ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและการลงทุน พร้อมมุ่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับสหรัฐฯ การลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 มีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70% จากปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทย รัฐบาลมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทย และพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมรับอุตสาหกรรมอนาคต เราจึงขอย้ำถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ “ต่อเนื่อง” ในการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า รัฐบาลเน้นนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อการลงทุน พร้อมเปิดกว้างในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือทวิภาคีและภูมิภาค เช่น APEC และ IPEF โดยรัฐบาลไทยได้เสนอสิทธิพิเศษทางด้านธุรกิจ เช่น การยกเว้นวีซ่าและวีซ่าพำนักระยะยาวให้กับนักธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันในระดับโลก รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดอีกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชูวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมการค้าเสรีและข้อตกลง FTA ที่พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในกรอบ OECD ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสและต่อต้านการทุจริตเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอีกด้วย และก่อนการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคที่เปรูได้มีโอกาสเดินทางไปที่นครลอสแอนเจลิส และพบหารือภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ไทย สหรัฐฯ มีความร่วมมือการลงทุนระหว่างกันกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท และสร้างงานกว่า 70,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้รัฐบาลไทยตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยและกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจตลอดไป