ปัญหาข้อพิพาทกรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างกรมที่ดิน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังเป็นประเด็นความขัดแย้งทางข้อกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกันระหว่างต้นสังกัด คือ กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงคมนาคม ส่อแววคาราคาซังยืดเยื้อ ไม่มีข้อยุติ และยังไม่รู้บทสรุปสุดท้ายจะลงเอยกันอย่างไร

ภายหลังคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง จำนวน 995 ฉบับ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินให้ที่ดินพิพาทบริเวณดังกล่าวเป็นของ รฟท.

กรมที่ดินเผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงเหตุผลไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง เนื่องจาก รฟท.ไม่มีหลักฐานเป็นข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. หาก รฟท.เห็นว่ายังมีสิทธิในที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินต้องไปดำเนินการพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป ยืนยันดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง

ขณะที่สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางให้พิจารณาหรือไต่สวนกำหนดวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาล โดยสำทับขึงขังหากที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้แต่ตารางวาเดียวก็จะเสียไปมิได้

กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงาน คือกรมที่ดินกับ รฟท. สร้างความเป็นห่วงอาจจะบานปลาย เป็นปัญหาการเมือง ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคเพื่อไทย ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของ รฟท. กับพรรคภูมิใจไทยที่ควบคุมดูแลกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย สะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล

ปัญหาข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงคือความเห็นต่างด้านข้อกฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน ที่มองคนละมุม ดังนั้นควรจับเข่าคุยกันหาข้อยุติให้ลงตัว อย่างที่ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุกรมที่ดินและ รฟท.ควรเจรจาสื่อสารกระบวนการขั้นตอนทำงานให้ชัดเจนร่วมกัน ไม่ต้องจบลงที่การฟ้องร้อง

...

ร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เลิกตั้งแง่คำพิพากษาศาลหรือคำสั่งอธิบดีตามกฎหมายที่ดินใครใหญ่กว่ากัน แต่ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันโดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก หากปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงใช้เรื่องที่ดินเขากระโดงเป็นปมต่อรองสร้างดุลอำนาจให้ฝ่ายตัวเอง จะยิ่งยุ่งกันไปใหญ่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม