“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ตอบกลับ “ทักษิณ” บอกรู้ดี ทำไมก้าวไกล ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับม.112 เพราะไม่มีใน MOU ตั้งแต่แรก ชี้หากไม่แก้ปัญหาโครงสร้างประเทศก็ต้องปะผุกันต่อไป ด้าน “ไอติม พริษฐ์” แจงเรื่องความเท่าเทียม คือจน-รวย ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

วันที่ 14 พ.ย. 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า เคยคุยกับตนเองเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 ว่า คุณทักษิณรู้ดีที่สุด ว่าเหตุผลที่ก้าวไกลและเพื่อไทยไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เลย

สิ่งที่คุณทักษิณกล่าว อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจไปได้ว่าผมเคยคุยกับคุณทักษิณเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หรือมีความคิดรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้พูดคุยตกลงอะไรกันเรื่องนี้เลย

การพูดคลุมเครือแบบที่คุณทักษิณกล่าวในวันนี้ ยังเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งต่อพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่าเหตุที่ดีลร่วมรัฐบาลล่ม เป็นเพราะพรรคก้าวไกลไม่ยอมลดราวาศอกเรื่อง 112

112 ไม่ใช่เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล

ไม่ใช่ว่าก้าวไกลเสนอให้การแก้ไข 112 เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล และเมื่อถูกทักท้วงจากพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นแล้วก็ไม่ยอมถอย

112 ไม่เคยอยู่ในเงื่อนไขตั้งแต่แรกต่างหาก

ไม่มีอยู่ใน MoU ร่วมรัฐบาลที่เซ็นร่วมกันและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

คุณทักษิณรู้ดีที่สุด

ไม่ใช่แกนนำก้าวไกลมุทะลุ ไม่มีวุฒิภาวะ แต่มีเหตุผลอื่นที่จะไม่ร่วมกัน แล้วใช้ 112 เป็นข้ออ้างต่างหาก

ในทางกลับกัน คุณทักษิณเอง น่าจะเป็นคนที่เข้าใจปัญหาโครงสร้างดีที่สุด แทนที่จะร่วมแก้ปัญหา กลับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

...

ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล เราไม่เคยโฆษณาหรือใช้เรื่อง 112 เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์เพื่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง

เราตอบหรือพูดเรื่อง 112 อย่างซื่อตรงเมื่อถูกสื่อมวลชนหรือประชาชนถามเท่านั้น

ผมทราบดีว่าการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่สั่งสมมาหลายสิบปีของประเทศไม่ใช่สิ่งที่ “ลัดขั้นตอน” ได้ แต่ต้องทำงานความคิดอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมเห็นชอบร่วมกัน และแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ไม่แก้ปัญหาโครงสร้าง ก็ปะผุประเทศไทยกันต่อไป ประเทศจะเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน มีแต่การให้คนในสังคมมีวุฒิภาวะพอ กล้ายอมรับปัญหา เผชิญหน้ากับมัน และค่อยๆ พูดคุยหาทางออกร่วมกัน

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กถึงนายทักษิณ เช่นเดียวกันว่าวันนี้ ผมเห็นว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยที่อุดรธานีโดยมีการพาดพิงถึงพรรคประชาชนใน 2 ประเด็นสำคัญ ที่ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการอธิบาย

ประเด็นที่ 1 : ท่านบอกว่าพรรคประชาชน “ไม่ต้องเสนอกฎหมายใหม่” และเราไม่ต้อง “แข่งกันออกกฎหมายใหม่” แต่ให้เน้น “ยกเลิกกฎหมายเก่าที่เป็นปัญหากับประชาชน”

1. ผมเห็นด้วยว่ากฎหมายบ้านเรามีหลายฉบับที่เป็นปัญหา - แต่หากเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ไม่ว่าคุณจะเสนอกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ หรือยกเลิกกฎหมายเก่า เราก็ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่การ “พิจารณา” ของสภาฯทั้งหมด

2. ในบรรดาร่างกฎหมายทั้งหมด 84 ฉบับที่พรรคก้าวไกล-พรรคประชาชนเสนอไปแล้ว มีหลายฉบับที่เป็นการยกเลิกกฎหมายเก่าตามที่ท่านพูด แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเท่าที่ควร
- ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ. ยุบ กอรมน. ที่เป็นการยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่รับรองการมีอยู่ของหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. ที่เรามองว่าถูกขยายอำนาจมาเป็นโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ ที่ทำภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น รวมถึงขยายมาสู่ภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (เช่น การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม) แต่ร่างนี้กลับถูกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (เศรษฐา ทวีสิน) ปัดตกโดยไม่ให้แม้กระทั่งเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ
- อีกตัวอย่างคือ ร่าง พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ที่เราเสนอให้มาทดแทนกฎหมายเดิมที่ออกในสมัยคณะรัฐประหาร (ฉบับปี 2558) เพื่อให้มีกลไกทบทวนอย่างสม่ำเสมอในการลดจำนวนและขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น จนก่อให้เกิดความล่าช้าต่อประชาชนและความเสี่ยงเรื่องการทุจริต แต่ร่างนี้เป็นร่างการเงินที่ค้างอยู่ที่โต๊ะนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร) มาแล้ว 1 ปี 2 เดือน โดยที่นายกฯยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับรองให้เข้าสภาฯหรือไม่

3. ถ้าท่านอยากแข่งกันปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์จริง สิ่งที่รัฐบาลที่ท่านสนับสนุนทำได้ (แต่ฝ่ายค้านยังไม่มีอำนาจทำได้) คือการกิโยตินหรือยกเลิกกฎระเบียบ-ใบอนุญาตในระดับที่ทำได้โดยฝ่ายบริหาร แต่ผ่านมา 1 ปีครึ่ง เรายังไม่ได้รับรู้ถึงความคืบหน้ามากนักของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) ที่นายกฯเศรษฐาตั้งไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2566 เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

[ ประเด็นที่ 2 : ท่านบอกว่าพรรคประชาชนเน้นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางฐานะ-สถานะ” ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเน้นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางโอกาส” ]

1. ผมเห็นว่าการขีดเส้นแบ่งลักษณะนี้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะ “ความเท่าเทียมทางฐานะ-สถานะ” กับ “ความเท่าเทียมทางโอกาส” ไม่ได้ขัดแย้งกันเสมอไป แต่เป็นสองคุณค่าที่พรรคประชาชนให้ความสำคัญ

2. ในมุมหนึ่ง เราเชื่อว่าคนทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศใด อาชีพไหน -ต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และได้รับการคุ้มครองจากการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือระดับรายได้ที่ไม่เท่ากันทุกคนก็ตาม

3. แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกคน ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะต่างๆของรัฐอย่างทัดเทียม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการกำหนดอนาคตของท้องถิ่นตนเอง รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกคน