เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วหลังคาราคาซังมาพักใหญ่ กระบวนการเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ด ธปท. แม้ยังไม่ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ข่าวทุกสายยืนยันตรงกันคือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายก รัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง ได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่
ขั้นตอนต่อไปคือการเสนอชื่อต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ดูเหมือนกระแสต่อต้านนายกิตติรัตน์จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งจาก 4 อดีตผู้ว่าการ ธปท. กลุ่มนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความกังวลจะทำให้การเมืองครอบงำการทำงานของ ธปท.
ที่ผ่านมากิตติรัตน์เป็นอดีตรัฐมนตรีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกทั้งมักวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ ธปท. โดยเฉพาะนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยที่สร้างภาระแก่ประชาชนไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง ในปัจจุบัน บทบาทของกิตติรัตน์จึงถูกมองเป็นตัวแทนกลุ่มการเมือง มีแนวคิดสวนทาง ธปท.
หน้าที่บอร์ด ธปท.คือแต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย 3 ด้านคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ที่เป็นกลไกดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนเงินสำรองระหว่างประเทศจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง
ดังนั้นการจะเข้ามาทำหน้าที่ประธานบอร์ด ธปท.ของกิตติรัตน์ จึงถูกจับตามองว่าจะเข้ามาแทรกแซง ลดความเป็นอิสระของ ธปท. หรือเข้ามาแก้กฎหมายเอื้อให้ ธปท.เห็นพ้องกับแนวคิดของรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่ เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท การเปิดช่องให้รัฐบาลนำทุน สำรองระหว่างประเทศไปใช้
วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ห่วงว่าหากให้ฝ่ายการเมืองส่งคนมาครอบงำแบงก์ชาติได้ จะเป็นอันตรายต่อการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ต่างจากพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่าการที่รัฐบาลส่งคนไปนั่งในตำแหน่งที่ดูแลนโยบายที่กระทบต่อประชาชน เป็นเรื่องปกติไม่ใช่การแทรกแซง
...
เป็นหน้าที่ของ ครม.ต้องกลั่นกรองตัวผู้มาทำหน้าที่ประธานบอร์ด ธปท. ด้วยความรอบคอบ รักษาสมดุลการทำหน้าที่ของ ธปท.ให้มีความเป็นอิสระปลอดจากการเมือง สามารถเดินควบคู่กันไปได้ ทั้งนโยบายของ ธปท. และนโยบายของ รัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ไม่ให้เป็นความท้าทาย เพิ่มความขัดแย้งในสังคม.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม