ปัญหาพิพาทพื้นที่ทับซ้อน “ทางทะเลไทย-กัมพูชา” กลายเป็นความกังวลให้หลายฝ่ายต้องออกมาคัดค้านเรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 2544 กันอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการแสดงไม่ยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่กำหนดขึ้นไว้อันจะเป็นการสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เพราะดูตามผู้รู้ด้านนี้ระบุว่าการประกาศขีดเส้นเขตไหล่ทวีป และทะเลอาณาเขตของกัมพูชาในปี พ.ศ.2515 ลากเส้นเขตไหล่ทวีปมาโค้งเว้าอ้อมประชิดตัวเกาะกูดด้านทิศใต้เป็นรูปตัว U (แผนผังแนบท้าย MOU 2544) ตรงมายังจุดกึ่งกลางอ่าวไทย “อันเป็นการอ้างสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียว” ไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล

ถ้ามาดูตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสลงวันที่ 23 มี.ค. ค.ศ.1907 “เกาะกูดเป็นของไทย” แล้วอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ระบุให้เป็นแผ่นดินต้องมีอาณาเขตทางทะเลของตัวเอง แต่การที่กัมพูชาลากเส้นกินอาณาเขตทางทะเลเกาะกูด “ไทย” ก็ได้โต้แย้งสิทธิ์ตามขั้นตอนมาตลอด

ตั้งแต่ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย พ.ศ.2516 และตั้งประภาคารกระโจมไฟบนเกาะกูดปี 2517 ส่งทหารประจำการลาดตระเวนรักษาอธิปไตย ดังนั้นเรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่มากมาย “การลงนามบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา (MOU 2544)” ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีปนั้น

...

กลายเป็นความกังวลอาจถูกตีความว่า “ไทย” ยอมรับเส้นเขตแดนที่กัมพูชากำหนดเป็นพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค บอกว่า

จริงๆแล้ว “กัมพูชา” มีลากเส้นเขตแดนไว้ 3 เส้น คือ 1.พาดผ่านตัวเกาะกูดตรงๆ แล้วเปลี่ยนเป็นแบบที่ 2.ลากมาหยุดที่ตัวเกาะด้านทิศตะวันออก “เว้นตัวเกาะ” ลากต่อออกจากตัวเกาะด้านทิศตะวันตกไปกลางอ่าวไทย ล่าสุดเขียนเส้นโค้งเว้าอ้อมประชิดตัวเกาะด้านทิศใต้ “เป็นรูปตัว U” ทำให้ไทยไม่ยอมรับการลากเส้นเข้ามาน่านน้ำไทย

หากดูตามสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 “ในหลวงรัชกาลที่ 5” ยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ จ.เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ แลกกับ จ.จันทบุรี ตราด และเกาะกูดมาเป็นของไทย ต่อมาก็กำหนดเขตแดนทางบกเล็งจากยอดเกาะกูดไปบนบก “อันเป็นหลักเขตที่ 73” แต่กัมพูชามาลากเส้นเขตแดนผ่านเข้ามาน่านน้ำไทย

ทำให้ไทยขีดเส้นเขตแดนจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงของกัมพูชาตามกฎหมายทะเลเรียกว่า “เส้นมัธยะ” ดังนั้น MOU 44 จะเป็นการยอมรับ หรือรับรู้เส้น 2 เส้นเป็นพื้นที่ทับซ้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของไทยจึงไม่ถูกต้องหากจะเป็นพื้นที่ทับซ้อน ควรเป็นเส้นตามกฎหมายทะเลคือเส้นจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด- เกาะกงเท่านั้น

“มิใช่เหมารวมเป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดแล้วจะมาเจรจาแบ่งกันคนละครึ่งย่อมทำให้ไทยเสียประโยชน์และดินแดนเพิ่ม แล้วกรณีเกาะกูดก็เป็นของไทยตั้งแต่อดีตไม่ใช่เรื่องมาถกเถียงกัน แต่ต้องมาพูดแง่กฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อเกาะกูดเป็นแผ่นดินต้องมีอาณาเขตทางทะเล เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะด้วย” รสนาว่า

เช่นนี้การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน “ต้องตกลงเขตแดนให้เสร็จก่อน” อย่างกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซียในอ่าวไทยตอนล่าง “ต่างฝ่ายอ้างสิทธิ์ในเนื้อที่ 7,250 ตร.กม.” สมัยนั้นไทยนำข้อตกลงกฎหมายทางทะเลในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่า “โลซินเป็นเกาะ” มีประภาคารที่กองทัพเรือไทยสร้างไว้แต่มาเลเซียก็ไม่ยอมรับ

กระทั่งไทย-มาเลเซียหาข้อยุติเขตแดนร่วมกันหลายครั้ง “จนมาสมัยเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายกฯมาเลเซีย” ได้ตกลงกันจนสำเร็จก่อนทำ MOU พัฒนาแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน (JDA)

แต่สำหรับ “MOU44 ไทย–กัมพูชาบนพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.พูดคุยกัน 44 วัน” สิ่งสำคัญ ไม่ได้เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรยกเลิก MOU44 แล้วมานับหนึ่งในแง่เส้นเขตแดนให้ถูกต้องก่อน

ย้ำอีกเรื่องถ้าดูตาม “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514” ที่ประกาศใช้มาสมัยนั้น พื้นที่ตรงบริเวณ 26,000 ตร.กม.เป็นส่วนไหล่ทวีปของไทย และมีการเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดสัมปทานหลายเจ้าเพียงแต่ว่า “กัมพูชา” ตกลงเจรจาเขตแดนไม่ได้ตามต้องการเลยประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตัวเองในปี 2515

คราวนั้นมีข่าวว่า “นายพลลอน นอล ประธานาธิบดีกัมพูชายุคนั้น” เคยชี้แจงกับจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อปี 2515-2516 ว่าเป็นการลากเส้นที่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และบริษัทเอกชนตะวันตกขอสัมปทานผลิตปิโตรเลียมเสนอมา และสัญญาว่าจะแก้ไขแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรจนไทยต้องกำหนดเขตไหล่ทวีปอ่าวไทยในปี 2516

เพื่อแสดงออกถึง “การไม่ยอมรับเส้นเขตแดนกัมพูชา” กระทั่งปี 2544 ไทยเริ่มยอมรับเส้นเขตแดนบนกระดาษของกัมพูชาจาก “MOU44 ที่ทำผิดกฎหมายมาแต่ต้น” เพราะการเจรจาเขตแดนกับต่างประเทศต้องเสนอสภาเห็นชอบก่อน “รัฐบาล” ไม่อาจไปเจรจากันเองเพียงแต่สมัยนั้นรัฐบาลถูกรัฐประหารทำให้เรื่องเงียบหายไป

จนมาถึง “รัฐบาลเเพทองธาร ชินวัตร นายกฯ” ก็มีท่าทีจะเดินหน้าแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์แบบในข้อตกลง MOU 44 ที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเลเช่นนี้ “กัมพูชา” อาจจะอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดินแดนเพิ่มขึ้นภายหลังได้ “ดินแดนเคยเป็นของไทยตามกฎหมายทะเล” จะกลายเป็นดินแดนของกัมพูชาหรือไม่

ทั้งยังมีกรณี “กัมพูชา” สร้างสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลใกล้หลักเขตที่ 73 จะทำให้องศาอาณาเขตเปลี่ยนไป เรื่องนี้ทำหนังสือประท้วงเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ “ไทย” ต้องเรียกร้องให้รื้อออกทันที

ตอกย้ำข้ออ้างที่ว่า “MOU 44 จัดหาแหล่งพลังงานให้เกิดความมั่นคงของประเทศมีราคาต้นทุนถูกลง” ถ้าดูตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ “การขุดเจาะพลังงานในอ่าวไทย” ล้วนแต่ส่งขายคนไทยในราคาตามตลาดโลก

ดังนั้น การเปิดพื้นที่ทางทะเลอ่าวไทยมาแสวงหาประโยชน์ทั้งก๊าซและน้ำมัน “คนไทยจะได้ประโยชน์บ้างเป็นส่วนน้อยมาก” แต่ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลมักจะตกกับบริษัทต่างชาติ และบริษัทด้านพลังงานเป็นหลัก ทำให้เกิดคำถามว่าใครได้ผลประโยชน์กันแน่แล้วการเปิดพื้นที่นี้มีเงินปากถุงด้วยหรือไม่

แต่ผ่านมา 53 ปีแล้วควรยกเลิกจับจองสัมปทานเดิม หากไม่ยกเลิกพลังงานจะตกเป็นของต่างชาติ

ฉะนั้นการเดินหน้า “MOU 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา” สุ่มเสี่ยงเสียดินแดนเสียประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้นแน่ “ควรยกเลิก MOU 2544” แล้วมาเริ่มเจรจาแบ่งเขตแดนให้เรียบร้อยก่อน หากยังมีพื้นที่ทับซ้อนอีกค่อยมาทำ MOU นำเสนอรัฐสภาเห็นชอบรับรองการเดินหน้าหาประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม