“แสวง บุญมี” เผยยังไม่มั่นใจจะมีนายก อบจ. ลาออกอีกหรือไม่ ชี้ออกก่อนครบวาระทำเปลืองงบประมาณ เจ้าหน้าที่เหนื่อยขึ้น เชื่อเลือกตั้งแข่งขันสูงทำคนแห่ใช้สิทธิมากขึ้น

วันที่ 14 พ.ย. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์การเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง อบจ. ว่าข้อมูลการลาออกก่อนครบวาระของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มี 29 จังหวัด โดยดำเนินการจัดการเลือกตั้งไปบางส่วนแล้ว และในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2567 3 จังหวัดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งประกอบด้วย อุดรธานี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช และในสัปดาห์ถัดไปเป็นการเลือกนายก อบจ. ของจังหวัดกำแพงเพชร ขณะที่บางจังหวัดก็ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะมีการลาออกเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนการเลือกนายก อบจ. ที่จังหวัดอุดรธานีมีการแข่งขันสูง กกต. จะมีการจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่าถ้าพูดจริงๆ คือ กกต. ชอบ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจและตื่นตัวไปออกเสียงลงคะแนน ซึ่งการทยอยเลือกที่ผ่านมาประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อย เพราะอาจจะมีข่าวอื่นมากลบบ้าง เมื่อเกิดกรณีที่จังหวัดอุดรธานีผู้ช่วยหาเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนลงไปในพื้นที่ทำให้มีความน่าสนใจทั้งในแง่สื่อและประชาชน น่าจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมากขึ้น

เมื่อถามว่าจะเป็นการสุ่มเสี่ยงให้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมากขึ้นด้วยหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่าเท่าที่ติดตาม พบว่ายังอยู่ในกรอบ การแข่งขันที่สูงหรือเข้มข้นไม่ได้บอกว่าจะผิดกฎหมาย ยอมรับว่ามีโอกาสที่จะผิดกฎหมายอยู่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องบอกว่าไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น สู้กันที่วิธีคิดนำเสนอนโยบาย มากกว่าที่จะไปใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยดูจากการติดตามการเลือกตั้ง อบจ. หลายแห่งพบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น และประชาชนยังไปใช้สิทธิน้อย

...

พร้อมกล่าวว่า ถ้าเห็นแก่พวกเราหรือเห็นแก่ประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณก็ลาออกแบบประหยัดงบประมาณน่าจะดีกว่าที่จะทำให้เราต้องจัดการเลือกตั้ง 2 ครั้ง กฎหมายออกแบบมาดี คือไม่ให้ใช้ตำแหน่งในการหาเสียงในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง แต่เขาไม่รู้สึกปลอดภัยว่าจะมีคนมาร้องในช่วงนั้น เขาจึงเลี่ยงลาออกก่อน แต่พอนำกฎหมายมาใช้จริงๆ มันจะทำให้เราเหนื่อยและเสียงบประมาณ และทำอะไรไม่ได้ตราบใดที่กฎหมายเป็นแบบนี้เราก็จะเจอเรื่องแบบนี้

นายแสวง กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยมีกระบวนการการเลือกตั้งที่โปร่งใสมากที่สุด คือสามารถเห็นได้ด้วยตา บางคนใช้โทรศัพท์ตั้งกล้อง ตั้งแต่ปิดหีบจนถึงนับคะแนนเสร็จ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง เราสามารถบอกเป็นขั้นเป็นตอนคะแนนไม่หายแน่นอน แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นหลังการออกเสียงลงคะแนน รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งมักจะถูกร้องเรียนทุกครั้ง แต่ถ้าเราละเอียดขึ้นใส่ใจขึ้น ก็จะไม่มีเรื่องที่จะทำให้คนเอามาเสียดสี ซึ่งเราสามารถทนได้อยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกนายก อบจ. นายแสวง กล่าวว่า แต่ละจังหวัดจะเลือกตั้งไม่เท่ากัน โดยในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น 90% ของงบของท้องถิ่น ส่วนอีก 10% เป็นงบ กกต. เพื่อใช้สำหรับการควบคุมให้สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นขนาดของท้องถิ่น หรือจำนวนเขตจึงมีผลกับการใช้งบฯ ว่าจะมากหรือน้อย อย่าง จ.นครราชสีมาจะต้องใช้เยอะ เพราะมีหลายเขต มีจำนวนประชากรเยอะ เราจึงไม่เห็นภาพรวม เพราะเขาไม่ได้รายงานเรา เขาจะทำงานตามระเบียบค่าใช้จ่าย ซึ่งจะกำหนดต่อคนต่อหน่วยอยู่แล้ว และเขาจะคำนวณตามนั้น แต่ในส่วนของ กกต. จะตั้งทุกจังหวัดในการสืบสวนสอบสวนให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม แต่อย่างที่บอกว่า หากเลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ต้องคูณ 2 เช่น จังหวัดหนึ่งมี 10,000 หน่วย เลือกนายก อบจ. ที่ลาออกไปก่อนแล้ว ก็หมื่นหน่วย ผู้มีสิทธิก็เท่ากัน พอจะเลือกสมาชิก อบจ. ก็ทำเหมือนกันหมด ห่างกันแค่เดือนสองเดือนก็ต้องทำเหมือนเดิมหมด ถึงอย่างไรก็ต้องใช้งบฯ บางคนบอกว่า เป็นผลดี เพราะทำให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น ก็แล้วแต่วิธีคิด แต่ในอีกมุมหนึ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิน้อยลง เพราะเลือกนายก อบจ. ไปแล้ว แต่หากเลือกพร้อมกัน ความชอบธรรมของคนใช้สิทธิก็จะมากขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการร่วมศึกษากฎหมายประชามติ ส่งหนังสือเชิญ กกต. ไปร่วมหารือเกี่ยวกับการทำประชามติในการจัดแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นายแสวง กล่าวว่า ได้มีการเชิญ กกต. ไปให้ความเห็นในวันที่ 20 พ.ย. นี้ หากตนไม่ติดภารกิจอะไรก็จะเดินทางไปชี้แจงเอง