ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ก.ต่างประเทศ แจง ไม่เคยมีการยกเลิก MOU 2544 ย้ำ เป็นกลไกเจรจารักษาประโยชน์ประเทศที่ดีที่สุด ซัดคนบิดเบือนไม่ปรารถนาดีต่อชาติ พร้อมเผย กต. เตรียมชงเข้า ครม. 19 พ.ย.นี้ ตั้งคณะกรรมการ JTC


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นของบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544 หรือ MOU 44 โดยประเด็นแรก MOU 44 เป็นเพียงการกำหนดกรอบ และกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว โดยให้เจรจากันทั้งเรื่องเขตทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีปไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ โดยไม่ได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่ายจนกว่าจะมีข้อยุติ โดย MOU 44 เป็นเพียงการกำหนดกรอบกลไกในการเจรจา ซึ่งยังไม่มีผลของการเจรจาใดๆ จึงยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อมา หากท้ายที่สุดผลของการเจรจาตาม MOU 44 เมื่อมีข้อยุติและมีบทสรุปแล้วนั้น จะต้องนำผลสรุปดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ได้รับความเห็นจากรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าผลการเจรจาใดๆ ในเรื่องนี้ ประชาชนชาวไทยจะต้องให้ความเห็นชอบผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อน ตามระบอบประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้ จึงจะมีผลบังคับทั้งเรื่องอธิปไตยของประเทศ และการนำทรัพยากรมูลค่ามหาศาลมาใช้ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนทั้งหมด โดยไม่สามารถเป็นของใครบางคนได้

พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยส่วนใหญ่ล้วนยึดถือแนวทางตาม MOU 44 ซึ่งแม้จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2552 ให้ยกเลิกในหลักการ แต่ก็ขอให้ศึกษาผลดีและเสียให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งจากการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ พบว่า MOU 44 มีข้อดีมากกว่า ต่อมาในปี 2557 ครม. จึงได้อนุมัติให้คง MOU 44 ไว้ ดังนั้นจึงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU 44 อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน และ MOU 44 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งในเรื่องเขตทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีป รวมทั้งการยกเลิก MOU 44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด

...

ประเด็นสุดท้าย เกาะกูด เป็นดินแดนของไทยที่แน่ชัดมาตั้งแต่ปี 2450 ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ และจะไม่มีการเจรจาใดๆ ในประเด็นนี้ทั้งสิ้น ผู้ใดที่พยายามพูดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ถือได้ว่าไม่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

ในตอนท้าย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการทางเทคนิค (Joint Technical Committee) หรือ คณะกรรมการ JTC ตามขั้นตอน เพื่อเจรจากับ JTC ของทางกัมพูชาต่อไป.