นับเป็นประเด็นถกเถียงกว้างขวางขณะนี้ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย–กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA)” หลังรัฐบาลประกาศเดินหน้าแผน MOU2544 เพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกัน

ทำให้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนหยิบยก “ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยของประเทศไทย” เกิดเป็นกระแสวิจารณ์ต่อความเสี่ยงอาจต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนโดยเฉพาะ “เกาะกูด” ที่อาจจะถูกเฉือนออกไปเป็นของกัมพูชาหรือไม่ ทำให้กลายเป็นประเด็นสั่นคลอนรัฐบาล และเสถียรภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศถึงกับนั่งไม่ติดเก้าอี้ต้องส่ง “สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ตั้งโต๊ะชี้แจงกรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน OCA ระหว่างไทย-กัมพูชาว่า

ถ้าย้อนดูเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2513 “ไทย และกัมพูชา” เคยพูดคุยตกลงแก้ไขปัญหาร่วมกันมาตลอดเพียงแต่ “กัมพูชา” ต้องการคุยแค่การพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน “ไทย” เห็นว่าเขตแดนทางทะเลมีความสำคัญยิ่งยวด เพราะเกี่ยวกับความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชน จึงยืนยันต้องพูดคุยเรื่องเขตแดนทางทะเลควบคู่กันไปด้วย

ขณะเดียวกันก็มิได้ตัดสิทธิ “กัมพูชา” ที่จะประกาศเส้นเขตแดนจึงนำมาซึ่งการประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงอาณาเขตทางทะเลที่เข้ามาในอ่าวไทยในปี 2515 “เส้นเขตไหล่ทวีปเล็งมาเกาะกูด” ทำให้ไทยยอมรับไม่ได้เลยประกาศเขตไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อ 18 พ.ค.2516

ฉะนั้นการประกาศเขตไหล่ทวีปของ 2 ประเทศก็เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตร.กม. “ครอบคลุมทะเลอาณาเขตขนาดใหญ่” ส่งผลต่อข้อจำกัดของประชาชนในการใช้ประโยชน์ในทางทะเลด้วย

...

แต่หากดูตามกฎหมายระหว่างประเทศ “การประกาศพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องปกติ” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอ่าวไทยเท่านั้นแล้วกฎหมายก็กำหนดให้ต้องพูดคุยเจรจาแก้ปัญหาอย่างสันติร่วมกันตาม “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982” ข้อ 15 กำหนดให้ใช้เส้นมัธยะ หรือการแบ่งกันคนละครึ่ง

และข้อ 85 การทำข้อตกลงต้องให้บรรลุผลอย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลผลประโยชน์ 2 ประเทศ เพราะพื้นที่ OCA เป็นพื้นที่เชื่อว่า “มีก๊าซธรรมชาติมูลค่าสูง” ปัจจุบันไม่มีประเทศใดเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ หาก 2 ฝ่ายตกลงแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันก็จะสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในทางเศรษฐกิจได้

เช่นนี้ “ไทย–กัมพูชา” ต่างมีความพยายามพูดคุยเจรจากันหลายครั้ง “ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นไม่ตรงกัน” จนมาถึงยุค ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ จึงได้สร้างกรอบ “MOU 2544” ในการพูดคุยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มีสาระสำคัญในการกำหนดกรอบ และสร้างกลไกองค์กรเข้าไปเจรจาร่วมกัน

ส่วนกรอบเจรจาร่วมกัน “ในพื้นที่ซับซ้อนเนื้อที่ 26,000 ตร. กม.” มีการแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลักๆ คือ 1.พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ “แบ่งเขตทางทะเลให้ชัดเจน” ถัดมาคือพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา “ให้พัฒนาพื้นที่นี้ร่วมกัน” มีเงื่อนไขให้ 2 เรื่องต้องทำควบคู่กันไปไม่อาจแบ่งแยกได้

ด้วยการตั้ง คกก.ร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Com mittee : JTC) และคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชากับการกำหนดเขตทางทะเล และคณะทำงานร่วมการพัฒนา

ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณาแต่งตั้งองค์ประกอบ JTC ฝ่ายไทย เมื่อ 2 ฝ่ายแต่งตั้งคณะ JTC แล้วก็จะเสนอกรอบเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ และทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป

ส่วนแนวทางร่วม “แก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทั้งไทย–กัมพูชา” ต่างเห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิคคือ “ประชาชน 2 ประเทศต้องยอมรับข้อตกลง” แล้วนำเรื่องสู่รัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วย สิ่งสำคัญข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

“ยืนยัน MOU 2544 ไม่ทำให้ไทยเสียเกาะกูดเพราะในตัวสนธิ สัญญากรุงสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทยอันเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะโดยไม่เคยเป็นประเด็นสงสัยมีความชัดเจนอยู่แล้วในอดีตถึงปัจจุบัน และเราใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ 100%” สุพรรณวษา ว่า

ถัดมาประเด็นข้อสงสัย “MOU 2544 ขัดพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่” เรื่องนี้การดำเนินการตาม MOU 2544 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการตามหลักเขตและแผนที่ ซึ่งการประกาศนี้ระบุไว้ตามจุดพิกัดต่างๆ อันเป็นการแสดงแนวทางโดยทั่วไปของเส้นที่กำหนดไหล่ทวีป

ซึ่งใช้พื้นฐานของตัวอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 เป็นพื้นฐานการประกาศพระบรมราชโองการตรงนี้ “แต่เรื่องสิทธิเหนืออธิปไตย”แสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรใต้ท้องทะเลต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่ประกาศพื้นที่ทับซ้อน แล้วสิ่งที่แต่ละประเทศประกาศก็ผูกพันเฉพาะในประเทศตัวเองเท่านั้น

ทว่า MOU เป็นข้อตกลงให้คุยกันสอดรับแนวทางกฎหมายไทยและเป็นหลักสากลการเจรจาเขตแดนทางทะเลอ้างสิทธิผูกพันเฉพาะภายในประเทศ ไม่มีผลต่อกฎหมายระหว่างประเทศเพราะต่างฝ่ายต่างมีเส้นของตัวเอง

แล้วตัว MOU ก็ระบุในข้อ 5 การดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา และขอย้ำว่าเราไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา

และมีคำถามว่า “MOU 2544 ทำให้ไทยเสียเปรียบ เคยเสนอ ครม.ยกเลิกไปแล้วนั้น” ตรงนี้ช่วงปี 2552 ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาท้าทายหลายประเด็น มีความตึงเครียดชายแดน การเจรจาก็ลุ่มๆดอนๆ “กระทรวงการต่างประเทศ” จึงเสนอ ครม.ให้ยกเลิก MOU 2544 แต่ในปี 2557 เห็นว่า MOU มีประโยชน์ข้อดีมากกว่าข้อเสีย

ก่อนเสนอ ครม.ทบทวนทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ใช้กรอบเจรจา MOU2544 หลักพื้นฐานเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศที่ทุกรัฐบาลก็ยอมรับ

ส่วนกรณีสร้างเขื่อนทางทะเลเกี่ยวโยง “พื้นที่ OCA” โดยเอกชนทำท่าเทียบเรือถมดินจากฝั่ง 100 เมตรในปี 2540 บางส่วนกินพื้นที่เรา ไทย แสดงสิทธิเหนืออธิปไตยประท้วงปี 2541, 2544, 2564 ทำให้เอกชนหยุดก่อสร้างแล้ว

นี่คือความสำคัญ “MOU 2544” ในการใช้เป็นกรอบเจรจา และกลไกที่มีอยู่เพื่อพูดคุยแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วม แต่มิได้ยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจากันต่อไปอีก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม