การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถือเป็นฐานรากของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตัวเอง ขณะเดียวกันการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับจังหวัดแม้อยู่ในโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความยึดโยงไปถึงการเมืองระดับชาติ

เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทั่วประเทศ เนื่องจาก ส.อบจ.และนายก อบจ.ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 19 ธ.ค.2567

กำหนดแผนจัดเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. โดยจะประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งระหว่าง 23–27 ธ.ค.2567 และกำหนดวันเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 โดยการเสนอวันเลือกตั้งและวันรับสมัครเป็นอำนาจ ผอ.การเลือกตั้งประจำ อบจ.โดยความเห็นชอบของ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2565 ถึง 29 ต.ค.2567 มีนายก อบจ.พ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ 29 จังหวัด โดย 27 จังหวัด ลาออกก่อนครบวาระเพื่อชิงความได้เปรียบคู่แข่ง และมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว 18 จังหวัด กกต.รับรองผลแล้ว 16 จังหวัด ยังไม่รับรอง 2 จังหวัด และอยู่ระหว่าง กกต.ทยอยจัดเลือกตั้งอีก 11 จังหวัด

โดยวันที่ 24 พ.ย.นี้ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี สำหรับคู่ชิงดำ ต่างก็เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองใหญ่ คือ ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กับคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน จึงถือว่าเป็นศึกเลือกตั้งในระดับช้างชนช้าง ต่างฝ่ายต้องระดมสรรพกำลังเพื่อยึดเป็นฐานการเมือง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย จะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อช่วยผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยหาเสียง ในวันที่ 13–14 พ.ย.นี้ ขณะที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ก็จะไปช่วยผู้สมัครของพรรคประชาชนหาเสียง ในวันที่ 15–17 พ.ย. ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงด้วยเช่นกัน

...

ที่สำคัญการที่อดีตนายกฯทักษิณ และพิธา ถูกตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครได้ตามที่กฎหมายและระเบียบ กกต.กำหนด แต่ก็ต้องระวังการไปช่วยหาเสียงต้องไม่มีเรื่องการจัดเลี้ยง ใช้เงินซื้อเสียงจูงใจ เพราะผิดกฎหมายเลือกตั้ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม