“นฤมล” เผย วงประชุม นบข. อาจใช้วิธีผสมผสานไร่ละ 1,000 บาท - ปุ๋ยคนละครึ่ง รออนุกรรมการด้านผลิตหาข้อสรุปเร็วๆ นี้ ก่อนชง นบข. อีกครั้ง ยันยึดประโยชน์สูงสุดช่วยเกษตรกร
เมื่อเวลา 15.40 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคภูมิใจไทย เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท กลับมา หลังจากที่รัฐบาลจะเปลี่ยนไปเป็นโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแทน ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) หารือกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ตอนนั้นได้ให้นำกลับไปทบทวน ความจริงเรื่องนี้เกษตรกรอยากได้ทั้ง 2 อย่าง ทั้งไร่ละ 1,000 บาท และปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถเพิ่มคุณภาพและผลผลิตได้มากขึ้น แต่เนื่องจากรอบงบประมาณมีจำกัด จึงจะต้องดูให้รอบคอบ
...
ผู้สื่อข่าวถามต่อ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ นางนฤมล ระบุว่า อาจจะเป็นการผสมผสานกัน ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุม นบข. ได้ให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีตนเป็นประธาน มาทบทวนรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการหารือกับนายกสมาคมชาวนาไทยก็เห็นด้วยว่าน่าจะเป็นการผสมผสานกัน เราจะไม่ยกเลิกไร่ละ 1,000 บาท แต่รูปแบบจะมีการแบ่งสัดส่วนอย่างไร อาจจะกำหนดจำนวนไร่ลดลง เพื่อที่จะเอาบางส่วนไปช่วยปุ๋ยคนละครึ่ง ฉะนั้นต้องรอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตสรุปก่อนและจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม นบข. อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอยู่ดี แต่ต้องมาดูว่าควรจะเป็นรูปแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด และตรงกับความต้องการของเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตจะมีการประชุมเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางนฤมล ยังได้เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายฟรานเชสโก โลโลบริจิดา (H.E. Mr. Francesco Lollobrigida) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อธิปไตยทางอาหาร และป่าไม้สาธารณรัฐอิตาลี และคณะ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายไทย) ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ (ฝ่ายอิตาลี) เตรียมจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไทย-อิตาลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรครอบคลุมการผลิต การค้า และการลงทุน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของทั้งสองประเทศ รวมถึงเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
“ขณะนี้ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อให้การขับเคลื่อนความร่วมมือมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศอย่างสูงสุด นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้าที่มาจากผ้าไหม เพื่อเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เนื่องจากอิตาลีถือเป็นผู้นำด้านแฟชั่นของโลกอีกด้วย”
ทางด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (ฝ่ายอิตาลี) กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-อิตาลี อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการขับเคลื่อนภารกิจภาคการเกษตร อาทิ การเปิดตลาดนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเติม เป็นต้น โดยฝ่ายอิตาลีพร้อมสนับสนุนประเทศไทยในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ตาม 2 ข้อบท ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายไทย) รับผิดชอบ ได้แก่ 1) ข้อบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) และ 2) ข้อบทระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems) อีกด้วย พร้อมทั้งจะสนับสนุนเร่งรัดให้สหภาพยุโรปอนุญาตนำเข้าม้ามีชีวิตจากไทยได้อีกครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศอิตาลีเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 22 ของไทย ซึ่งในปี 2567 (ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน) เทียบกับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการส่งออกไปอิตาลีเพิ่มขึ้นจาก 8,561 ล้านบาท เป็น 11,883 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,322 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.80 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่
1. อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก
2. ปลาหมึกแช่แข็ง อาทิ ปลาหมึกกระดอง ปลาหมึกกล้วย
3. ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค
4. ยางแผ่นรมควัน
5. ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด อาทิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ
6. ปลาปรุงแต่งอื่น ๆ อาทิ ไส้กรอกปลา ลูกชิ้นปลา
7. พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้ และส่วนอื่นของพืช แช่อิ่ม เชื่อม หรือฉาบ
8. หอยลาย หอยกาบ และหอยแครงปรุงแต่ง
9. ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย
10. กุ้งปรุงแต่ง ที่ไม่ได้บรรจุภาชนะ