พรรครวมแผ่นดิน ทรานส์ฟอร์มสู่พรรคก้าวอิสระ ที่ประชุมใหญ่มีมติเลือก “มาดามหยก” เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ย้ำ เป็นกลาง ร่วมงานได้ทุกฝ่าย ลั่น พร้อมสู้ศึกสนามเลือกตั้งปี 70

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรครวมแผ่นดิน ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2567 เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. โดยผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคมีมติเลือก น.ส.กชพร เวโรจน์ หรือ มาดามหยก เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ รวมถึงเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น “พรรคก้าวอิสระ” พร้อมเปลี่ยนโลโก้พรรคเป็นรูปสามเหลี่ยมสีม่วงอยู่ในวงกลมสีรุ้ง หมายถึง ความหวัง อิสระทางความคิด และอิสระทุกด้าน เพื่อทำให้เกิดความสามัคคีและคนไทยกลับมามีความสุข ไม่ทะเลาะกัน ทุกพรรคสามารถทำงานร่วมกันได้เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน

น.ส.กชพร เปิดเผยว่า ส่วนตัวทำงานเบื้องหลังมาโดยตลอด วันนี้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนอะไรเดิมๆ และมองว่าควรที่จะเปิดใจ เปิดตัวเอง มีความตั้งใจอยากสร้างบ้านหลังหนึ่งเป็นที่พักใจของประชาชนที่รู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะไปทางไหน ก็สามารถมาพักใจได้ที่พรรคก้าวอิสระ หรือ Independent Party ชื่อย่อ อินดี้ โดยเปลี่ยนชื่อพรรคจากรวมแผ่นดิน เนื่องจากที่ผ่านมาเราทำการเมืองแบบเดิมๆ แต่ในครั้งนี้ก็ได้ขอกับทางผู้ใหญ่ว่าอยากจะทำบ้านให้เป็นทางเลือกประชาชน เพราะปีนี้ก็เป็นปี 2024 แล้ว เราควรที่จะมีอะไรใหม่ๆ และอยากที่จะทรานส์ฟอร์มประเทศ อยากให้ทุกคนหันกลับมารักกัน ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เริ่มจริงจังกับทุกเพศทุกวัย หลากหลายอาชีพ เพราะประเทศไม่ได้มีแค่วัยใดเพียงวัยหนึ่ง เพศใดเพศหนึ่ง ดังนั้น จึงเกิดพรรคก้าวอิสระขึ้น ซึ่งประกอบด้วยคนทุกเพศทุกวัย เราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น

...

น.ส.กชพร กล่าวต่อไปว่า เราเป็นพันธมิตรกับทุกพรรคการเมือง เพราะดูจากสีของโลโก้พรรคแล้วจะเห็นว่ามีทุกสี เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจว่าเราคบทุกพรรค รักทุกคน ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องแบ่งสีแบ่งฝ่าย เพราะเป็นคนไทยด้วยกันและเกิดในแผ่นดินเดียวกัน

เมื่อถามว่าในพรรคมีบิ๊กเนมหรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียงร่วมด้วยหรือไม่ น.ส.กชพร ตอบว่า อาจจะเป็นพรรคแรกของประเทศที่เชิญคนจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมทำงาน โดยมีผู้ใหญ่ที่เป็นที่รู้จัก เช่น นายกสมาคมแพทย์อาสา อาจารย์จากสถาบันต่างๆ ส่วนตัวไม่อยากใช้คำว่าบิ๊กเนม เพราะต้องการให้เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ มีตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมงานเช่นตัวแทนของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ตัวแทนฟรีแลนซ์ (freelance) ตัวแทนเกษตรกรชาวนา ตัวแทนของผู้พิการ หรือกลุ่มเปราะบาง ตัวแทนกลุ่มผู้สูงวัย ตัวแทนของ LGBTQ และทุกกลุ่มอาชีพ แต่ทั้งนี้ยังต้องการบุคลากรที่จะมาร่วมงานกับพรรค คือกลุ่มคนทำงานอิสระ คนขับขี่แท็กซี่ หรือ Platform Delivery รวมถึงทุกอาชีพที่เป็นคนไทย

ส่วนคำถามว่าที่มาของพรรคเป็นกลยุทธ์แตกแบงค์พันจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำเดิมยังคงอยู่หรือยังมีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ น.ส.กชพร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ครั้งนี้ตนอยากมีพรรคที่มีความเป็นกลาง ให้เกิดประชาธิปไตยที่จริงใจในประเทศไทย ไม่ใช่วาทกรรมเป็นประชาธิปไตยแต่การกระทำสวนทาง ซึ่งพรรคจะเน้นด้านศิลปวัฒนธรรม เน้นลงพื้นที่ไปอยู่กับประชาชน และนำวิสาหกิจชุมชนมาต่อยอดให้ออกไปสู่สายตาชาวโลก เป็นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ยืนยันว่าครั้งนี้ไม่ใช่พรรคที่แตกแบงค์พันแน่นอน เพราะมีความเป็นอิสระเหมือนชื่อของพรรคก้าวอิสระ เราต้องการที่จะ Transform Thailand และ step forward to future for change

ขณะที่คำถามว่าจะสลายขั้วการเมืองที่คนมองว่าผูกติดกับขั้วใดขั้วหนึ่งแล้วมายืนอยู่ตรงกลางได้อย่างไร น.ส.กชพร ระบุว่า เมื่อตอนที่ยังเป็นพรรครวมแผ่นดิน ส่วนตัวก็มีความเป็นกลาง เพราะใช้โลโก้พรรคเป็นสีรุ้งมาโดยตลอด แสดงถึงความเป็นกลาง โดยผู้ใหญ่ที่เคารพก็สอนมาตลอด อยากให้มีพรรคที่เป็นกลางจริงๆ แต่ยังไม่มีใครกล้าก้าวออกมาทำ เพราะจะถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลางจริง ซึ่งส่วนตัวสามารถทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล และมองว่าทำงานร่วมกับฝ่ายค้านก็สนุกดี หรือสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลก็ได้ เพราะจะมีโครงการไปช่วยเหลือประชาชน แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็เป็นคนไทยด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความพร้อมในการส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วประเทศปี 2570 น.ส.กชพร เผยว่า ในการเลือกตั้งปี 2570 น่าจะมีความพร้อมกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นส่วนตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรครวมแผ่นดินในพื้นที่ภาคเหนือ แม้จะเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือนแต่คะแนนในพื้นที่ภาคเหนือก็สูงพอสมควร แพ้ให้กับพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) เพียงไม่กี่คะแนน โดยพรรคเน้นพลังบริสุทธิ์จริงๆ และสำหรับครั้งนี้ก็เพิ่มนโยบายพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนเข้ามาเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในเรื่องปากท้อง ต้นทุนในครัวเรือน คาดหวังว่าจะได้มีโอกาสเข้ามาพัฒนาด้านการศึกษา เพราะต้องการพัฒนาเยาวชนของประเทศได้อย่างตรงจุด.