เป็นอีกหนึ่งความหวังเล็กๆที่ สส.และ สว.จะมาพบกันครึ่งทางร่วมเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมายประชามติให้ออกมาเร็วที่สุด จากข้อเสนอของคุณนิกร จำนง กรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่โยนทางออกให้ใช้ “เสียงข้างมากชั้นครึ่ง” โดยชั้นแรกยอมเอาตาม สว.คือใช้เกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทำประชามติต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และอีกครึ่งชั้นเป็นการเปลี่ยนเกณฑ์การเห็นชอบประชามติ โดยยึดเสียงข้างมากแทนการใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
หากคณะกรรมาธิการร่วมฯซึ่งมี สส.และ สว.ฝ่ายละครึ่งเอาตามข้อเสนอนี้ แล้วสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติก็จะออกมาบังคับใช้ได้เร็ว ไม่ต้องถูกดองไว้อีก 180 วัน กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้ทันที ก็พอจะมีหวังได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า
แต่ผมเชื่อว่า สว.ไม่มีทางยอมรอมชอมกับ สส.ในเรื่องนี้ สว.ทั้ง 14 คนที่ถูกส่งมาเป็นกรรมาธิการร่วมฯล้วนเป็นสายสีน้ำเงิน มีธงอยู่แล้วว่าต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากที่สุด สัญญาณชัดเจนตั้งแต่ตอนที่วุฒิสภาโหวตกลับลำเปลี่ยนจากเสียงข้างมากชั้นเดียว มาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 160 กว่าเสียง แพ็กกันแน่น โชว์จุดยืนจะลากเกมต่อเวลา รัฐธรรมนูญปี 60 ให้อยู่ได้นานที่สุด
อย่าว่าแต่ สว.เลย แม้กระทั่งบรรดา สส.เองก็ไม่แน่ว่าจะเอาด้วยกับข้อเสนอของคุณนิกร พรรคภูมิใจไทยที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับ สว.สีน้ำเงินจะมีท่าทีอย่างไร หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทยก็เดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 1 ก้าว ทำให้ไปถึงเป้าหมายช้ากว่ากำหนด
ยังมีข้อสังเกตของ คุณชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ที่ประชามติ 2 ชั้นหรือชั้นครึ่ง เรื่องใหญ่มันอยู่ที่ชั้นแรก ที่ระบุว่าต้องมีคนมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ เท่ากับว่าคนที่ไม่มาใช้สิทธิหรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนจะถูกนับไปด้วยว่าเป็นคนไม่เห็นชอบ ค้านการทำประชามติ เราถึงบอกว่ามันไม่ควรมี ควรเอาเสียงข้างมากธรรมดา พรรคเพื่อไทยยืนยันจุดนี้แล้ว สภาฯก็ยืนยันจุดนี้แบบเอกฉันท์ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ส่วนตัวให้ความสำคัญกับชั้นแรกมากกว่า
...
(ท่านผู้อ่านลองขบคิดเล่นๆดูนะครับว่า ระหว่างการมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง กับการมีผู้เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ อย่างไหนยากกว่ากัน)
ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เกือบทุกพรรคประกาศจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านก็หลงเชื่อว่าทุกพรรคจะจับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ให้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ปรากฏว่าในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภากลับไม่ได้ตีกรอบเวลาไว้ โดยระบุถ้อยคำกว้างๆเพียงว่า “รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยขึ้นโดยเร็วที่สุด”
ในขณะที่พรรคประชาชนที่ดูเหมือนโหยหาประชาธิปไตยมากกว่าใครกลับปลุกกระแสสังคมไม่ขึ้น ทำได้แค่เล่นบทตามตื๊อตอแยเหมือนเด็ก อย่างที่ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ จะทำหนังสือขอเข้าพบ 3 ฝ่าย ได้แก่ ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ช่วยผลักดันทำประชามติแค่ 2 ครั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ
ทั้ง 3 ฝ่ายที่คุณพริษฐ์ขอเข้าพบ คงมีแค่ประธานรัฐสภาที่เปิดให้เข้าพูดคุยแน่ๆ แต่จะบรรจุวาระให้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่นายกฯน่าจะต้องดูสถานการณ์ความจำเป็นก่อน แต่ถึงจะยอมให้เข้าพบ ก็ไม่อาจไปสั่งพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ดี คงโยนให้ไปคุยกันในสภาฯตามสูตร ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้นปิดประตูได้เลย เพราะไม่มีหน้าที่อธิบายขยายความคำวินิจฉัย
วันนี้บรรดานักการเมืองรู้กันดีว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็เล่นปาหี่ตามบทของแต่ละพรรค ปล่อยให้ประชาชนรอเก้อต่อไป.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม