สงคราม–ขึ้นศาลโลก–เปิดเจรจา
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ เปิดให้เห็นทางเลือกปกติที่ประเทศทั่วโลกใช้แก้ปัญหากรณี 2 ประเทศมีพื้นที่ทับซ้อน แต่ไทย-กัมพูชาเปิดประตูแห่งโอกาสของทั้ง 2 ประเทศ “เจรจาโดยสันติ” เป็นที่มาของการทำเอ็มโอยู 44 วันที่ 18 มิ.ย.44
โดยรัฐบาลเพื่อไทยในขณะนั้น มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ เป็นคนลงนาม หลังกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป ปี 2515 ไทยประกาศเขตไหล่ทวีป ปี 2516
พื้นที่ 2.6 หมื่น ตร.กม. “อ้าง” สิทธิทับซ้อน
เอ็มโอยูสถานะตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา โดยดูเนื้อหาไส้ในมีลักษณะองค์ประกอบการเป็นสนธิสัญญา กรอบการเจรจาพื้นที่ “อ้าง” สิทธิทับซ้อน เป็นข้อตกลงชั่วคราว “Agreement Negotiate” สนธิสัญญาที่เจรจากันและกัน ในเมื่อต่างฝ่ายต่าง “อ้าง” สิทธิก็เลยต้องคุย
ขอฉายภาพให้เห็นว่าเอ็มโอยูเป็นผลดีต่อประเทศ โดยต้นเอกสารต้องผ่านสายตาเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎหมายเป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาล
มั่นใจในความสุจริต–มีประสิทธิภาพ
ไม่เช่นนั้นคงไม่ปล่อยให้ รมว.ต่างประเทศลงนามเซ็น และต้องยอมรับว่านายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นนักกฎหมายมือระดับท็อปของประเทศไทย ต้องดูด้วยความรอบคอบเหมือนกัน
“ทุกรัฐบาลใช้เอ็มโอยู 44 ตั้งแต่รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานเจทีซี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเจทีซีปี 62–66
...
รัฐบาลท่านเศรษฐา ทวีสิน รัฐบาลท่านแพทองธาร ชินวัตร ก็ใช้ตามกรอบเอ็มโอยูฉบับนี้ ถ้าเป็นเอกสารที่ไม่ดี ไทยเสียประโยชน์
ไม่เชื่อว่า ครม.ท่านประยุทธ์ ในปี 57 ก็มีมติให้เดินตาม
กรอบเอ็มโอยู 44 เจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ทั้งเป็นความจริงล้วนๆ ไม่ใช่ความเห็น”
ยืนยันเอ็มโอยู 44 ไม่ทำให้เสียเกาะกูด
กัมพูชาไม่เคยเครมสิทธิเหนือเกาะกูด
แต่หลายฝ่ายทั้งแพทย์ชื่อดังคนหนึ่ง สมาชิกพรรคการเมืองบางคน อดีต รมว.คลัง คนหนึ่ง พยายามชี้ให้สังคมเห็นว่าเอ็มโอยู 44 ที่เซ็นไป เท่ากับยอมรับเส้นที่ลากโดย
กัมพูชา ทำให้ไทยเสียเขตแดนทางทะเล
สมมติในอนาคตมีข้อพิพาทไปสู่ศาลโลก เอาข้ออ้างที่ลงนามเอ็มโอยู 44 ไปทำให้ไทยเสียสิทธิ คนที่พูดไม่รู้ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะเอ็มโอยูมีแค่ 2 แผ่น ไม่มี
ข้อความใดที่ยอมรับกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป ถ้าไทยยอมรับจะไปเจรจาทำไม
เนื้อหาในเอ็มโอยู ไม่กระทบกระเทือนสิทธิ ไม่ทำให้เสียสิทธิใดๆ ถ้าไปเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ทั้งด้านปักปันเขตแดน-ด้านพัฒนาร่วมไม่สำเร็จ ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายในแต่ละเส้น เพราะไม่ได้ผูกพันว่าไทยไปยอมรับเส้นของกัมพูชา
ในมุมมองส่วนตัวเมื่อคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) เจรจามีข้อเสนอให้ชี้แจงความคืบหน้ากับประชาชนได้ทราบเป็นระยะ อะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ไม่ต้องชี้แจง
การทำเช่นนี้ทำให้สร้างความโปร่งใส เมื่อเจรจาจบก็ส่งให้ ครม.อนุมัติ สมมติ ครม.เห็นว่าผลการเจรจาไม่ปกป้องผลประโยชน์ของไทยก็ให้ไปเจรจาใหม่ หาก ครม.ประทับตราก็ส่งเข้าที่ประชุมรัฐสภา ที่มีตัวแทนของปวงชนชาวไทย ทั้ง สส.500 คน และ สว.200 คนตรวจสอบ
รัฐบาลโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้
สรุปเกาะกูดเป็นของไทยไม่ว่าไทยเจรจาพื้นที่ “อ้าง” สิทธิทับซ้อนกับกัมพูชาสำเร็จหรือล้มเหลว นายนพดล บอกว่า เกาะกูดไม่เกี่ยวกับพื้นที่ “อ้าง” สิทธิทับซ้อน หรือโอซีเอ (Overlapping Claims Area)
ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลพยายามมุ่งมั่นไป
เอื้อประโยชน์ เกี้ยเซียะกับกัมพูชา เพื่อเอาน้ำมันและแก๊สมาใช้ก่อน สรุปมันไม่สามารถทำได้ จะกระทบต่อการปักปันเขตแดน พื้นที่พัฒนาร่วม-แบ่งพื้นที่ทางทะเลต้องทำควบคู่เหมือนปาท่องโก๋
แต่ที่ยังมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย ขอแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก นักวิชาการที่เป็นห่วงโดยสุจริต เราก็ตอบไปตามหลักกฎหมาย ส่วนกลุ่ม 2 นักการเมือง มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากมีเหตุจูงใจทางการเมือง เห็นได้จากสมัยเป็นรัฐบาลก็เดินตามแนวนี้ พอไม่ได้เป็นรัฐบาลกลับระบุว่าเอ็มโอยูต้องเป็นโมฆะ กลุ่ม 3 น่ากังวล
ใช้พื้นที่ทับซ้อนปลุกเร้ากระแสชาตินิยม
เพื่อให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลในขณะนั้น เช่น สมัยที่เป็น รมว.ต่างประเทศ ขณะนี้ยังใช้ความเท็จโจมตีว่า “ผมเป็นคนเซ็นปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา”
ทั้งที่ไทยแพ้คดีในศาลโลก ปี 2505 ตัดสินประสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา แต่ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. พอเป็น รมว.ต่างประเทศ กัมพูชาก็ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ต้องเปิดเจรจาจนกัมพูชายอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ตัดพื้นที่ทับซ้อนออก
จุดโฟกัสคือตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ผมทำสำเร็จ แต่โดนกระหน่ำว่าขายชาติ เกิดความตึงเครียดตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งที่ตามทำความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ
ท้ายสุดไปฟ้องผมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อสู้คดียาวถึง 7 ปี มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคำพิพากษาระบุชัด “ผมทำถูกต้องเหมาะสมกับเวลา”
กำลังส่งสัญญาณถึงขบวนการที่กำลังจุดกระแสคลั่งชาติ ว่าไม่ควรทำ อย่าปลุกกระแสคลั่งชาติเหมือนปี 51 นายนพดล บอกว่า ไม่ได้บอกว่าขณะนี้จะจุดกระแสคลั่งชาติ แต่อย่าจุดกระแสคลั่งชาติเหมือนปี 51 มีอะไรในฐานะคนไทยต้องสร้างความรัก ความสามัคคี ควรหันหน้าเอาความจริงมาพูดคุย
ยิ่งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเอมริกาที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังต้องเผชิญความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าเกิดขึ้นหรือไม่
ไทย–อาเซียนเข้มแข็งถึงมีอำนาจต่อรอง“ไทย–กัมพูชาสามารถเจรจาอย่างสันติ สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ วิน–วิน ต่างฝ่ายต่างได้ทำให้บรรยากาศความมั่นคงทางการเมืองทั้งในประเทศและภูมิภาค มันดี
คนไทยมาทะเลาะกันทำไม มาคุยกันด้วยข้อเท็จจริง อย่าบิดเบือน หากคุณไม่ชอบเพื่อไทย คุณชอบพรรคไหนก็ไปช่วยพรรคนั้น อีก 2 ปีกว่าให้ประชาชนตัดสิน
ผมเป็นคนโหยหา ความจริงของแทร่ เอาความจริง คมเหตุ คมผล มาปะทะกันดีกว่า ประชาชนได้ประโยชน์ ปะทะด้วยความลวง ทำไอโอ มันไม่เท่”
ขบวนการปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อล้มระบอบทักษิณ นายนพดล บอกว่า ระบอบทักษิณไม่มี มีแต่รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย บังเอิญนายกฯเป็นลูกสาวอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
รัฐบาล ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ ท่ามกลางมีคนบางกลุ่มมีมูลเหตุทางการเมืองเคลื่อนไหวอยู่ก็ไม่อยากให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปราสาทเขาพระวิหาร
คราวปลุกกระแสปราสาทเขาพระวิหาร ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พ้นไปเพราะคดีชิมไปบ่นไป รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นไปเพราะถูกยุบพรรค ไม่เกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหาร
แต่ไม่ได้ประมาท ไม่ได้ดูหมิ่นเจตนาหรือความตั้งใจของคนกลุ่มนี้ ไม่น่าดำเนินการประสบความสำเร็จ
ที่พยายามทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล
หรือมีความพยายามล้มรัฐบาลเพื่อไทย.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม