“ศักดิ์ณรงค์” รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ชี้ รู้แล้วว่าเกาะกูดเป็นของไทย อย่าเฉไฉแบ่งสมบัติไทยให้ต่างชาติ เพื่อประโยชน์ของตนเอง จี้ พิจารณาทบทวนดูว่า ภายใต้ MOU 44 ประเทศไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย ระบุ การยกเลิก MOU เป็นสิทธิ์ที่ไทยพึงกระทำได้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 นายศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นหลังฟังนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องของ MOU 44 ระหว่างไทยกับกัมพูชาแล้ว ว่า ถึงเวลานี้ คงไม่ต้องมาพูดกันอีกแล้วว่า เกาะกูดเป็นของไทยหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่า

เมื่อเป็นของไทยแล้วเหตุใดพื้นที่ทางทะเลโดยรอบเกาะกูดซึ่งมีระยะห่างจากแผ่นดินอาณาเขตประเทศออกไป 12 ไมล์ทะเล และต่อไปอีก 12 ไมล์ทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจต่อเนื่อง เรื่อยไปจนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ไทยเป็นเจ้าของทะเลอาณาเขตตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ กลับไม่พูดถึงเลย หรือจงใจจะเบี่ยงเบนประเด็นพื้นที่ทางทะเล หันเหความสนใจของประชาชน มาอยู่ในพื้นที่เกาะกูดเพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยให้พื้นที่ทางทะเลของไทยมีการแสวงหา และเจรจาผลประโยชน์กันอย่างรีบเร่งจนน่าผิดสังเกต

เห็นได้จากเหตุการณ์หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและความต้องการของพรรคแกนนำรัฐบาลได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่รองนายกรัฐมนตรีฯ นายภูมิธรรม มีกำหนดการลงพื้นที่เกาะกูดในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 นี้ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพล และตอกย้ำการเป็นแผ่นดินของไทย ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวเผยแพร่ตามหน้าสื่อต่างๆ อยู่ในเวลานี้

นายศักดิ์ณรงค์ เห็นว่า การลงพื้นที่เกาะกูดเพื่อไปตอกย้ำความเป็นดินแดนของไทยนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการไปตอกย้ำพื้นที่อาณาเขตทางทะเลโดยรอบเกาะกูด ตามสิทธิ์ทางกฎหมายสากลที่ไทยได้ประกาศ พระบรมราชโองการกำหนดเขตแดนไว้ในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลออกมาพูดในประเด็นนี้เลย มีแต่พูดถึงพื้นที่เกาะกูดเพียงอย่างเดียว

...

ทั้งนี้ ผลจากการทำ MOU 44 ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยมีเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏเป็นแผนที่อยู่ใน MOU นั้น ทำให้น่านน้ำของจังหวัดตราดได้เข้าไปอยู่ในเส้นของกัมพูชาแล้ว และพื้นที่อาณาเขตของเกาะกูดก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชาด้วยเช่นกัน รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ก็เข้าไปอยู่ในเส้นของกัมพูชาด้วย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขายอมให้ทำกันแบบนี้

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักกฎหมายสากลแล้ว เราจะไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจต่อเนื่องทางทะเลเลย แต่จะมีพื้นที่ทับซ้อนเฉพาะที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเท่านั้น ซึ่งก็จะมีจำนวนพื้นที่น้อยกว่ามากตามที่ได้อ้างสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน แผนที่ที่ปรากฏใน MOU 44 นี้ ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบน เหนือเส้นที่ 11 องศาเหนือ ขึ้นไป ให้เป็นพื้นที่เจรจาแบ่งเขตแดน และส่วนล่างเส้นที่ 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์

เมื่อเป็นดังนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมจึงเจรจาเขตแดนเฉพาะพื้นที่ส่วนบน? แล้วส่วนล่างที่เป็นผลมาจากการที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายสากล ซึ่งเราไม่ยอมรับว่าเป็นเขตแดนนั้น แต่เรากลับไปยอมรับเป็นเขตแดนแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือ JDA ซึ่งเป็นเส้นที่แตกต่างไปจากพระบรมราชโองการในปี พ.ศ. 2516 เป็นอย่างมาก

นายศักดิ์ณรงค์ ยังเห็นเพิ่มเติมว่าภายใต้ MOU 44 นี้ ทำให้ไทยจำต้องไปยอมรับการมีอยู่ และการคงอยู่ของเส้นแนวเขตของกัมพูชา โดยฝ่ายไทยนำมาเป็นกรอบในการเจรจา JDA จึงขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการเจรจาแบ่งเขตแดนให้จบตลอดทั้งเส้นแนวเขต ไม่ต้องมาแบ่งเป็น 2 ส่วน แยกการเจรจาอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ พร้อมกับเสนอให้ฝ่ายกัมพูชาได้พิจารณาลากเส้นแนวเขตแดนของประเทศตนเสียใหม่ โดยไม่ล้ำอธิปไตยของไทย ให้มีความถูกต้อง ชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศที่สากลยอมรับ

จึงขอให้นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม ได้พิจารณาทบทวนดูว่า ภายใต้ MOU 44 นี้ ประเทศไทยเราได้อะไร และเสียอะไร ถ้าเห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย ก็สมควรที่จะต้องยกเลิก MOU 44 นี้ แล้วหาวิธีเจรจาทำความตกลงกันใหม่ โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะยกเลิกไม่ได้ และกัมพูชาจะฟ้องร้องเรา เพราะ MOU คือ “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” เท่านั้น ไม่ใช่สนธิสัญญาอะไรที่มีข้อผูกมัดใดๆ ในเมื่อไทยเป็นรัฐเอกราช เราจะเจรจาด้วยกรอบอะไร อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของเรา เช่นเดียวกับกัมพูชา ที่ดำเนินการภายใต้นโยบายของเขา ไม่มีใครฟ้องใครได้ การยกเลิก MOU เป็นสิทธิ์ที่ไทยพึงกระทำได้ ไม่ต่างอะไรกับ MOU ที่พรรคต่างๆ ได้ร่วมกันทำขึ้นเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเสร็จ แต่จู่ๆ วันหนึ่งเพียงแค่ชั่วข้ามคืน พรรคแกนนำจัดตั้งยังยกเลิก MOU นั้นได้เลย ไม่เห็นต้องกลัวว่าพรรคต่างๆ ที่ร่วมลงนามด้วยจะฟ้องร้อง