กระทรวงการต่างประเทศ โดย นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และ สุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้อธิบายรายละเอียดของ MOU 2544 ไว้ดังนี้ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 และการทำข้อตกลง OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีขนาดเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย
ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ในกรณีพื้นที่ทับซ้อน จากการอ้างสิทธิในไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 เป็นที่มาของ MOU 2544
ทั้งนี้ MOU 2544 ระบุให้ดำเนินการทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และ การพัฒนาพื้นที่ร่วม ไปพร้อมกัน โดยทั้งสองฝ่ายเจรจาหารือกันบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ร่วมกัน กลไกของการเจรจาคือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ JTC ที่มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและกฎหมายเป็นคณะเจรจา และยังมีคณะทำงานชุดอื่นๆ เช่น คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเลและคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบบพัฒนาร่วม
โดยเห็นสอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบาย และระดับเทคนิค คือ ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับข้อตกลงได้, จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย (การจะยกเลิก MOU 2544 ไม่สามารถยกเลิกโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้)
เรื่องนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544-2545 ส่วนจะทำให้ไทยเสียเกาะกูดไปหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะ สนธิสัญญากรุงสยาม ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุไว้ชัดเจนว่า เกาะกูดเป็นของไทยและถือเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูด เรามีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด 100%
...
MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการประกาศไหล่ทวีป หรือไม่นั้น ตามประกาศที่ระบุไว้ตามจุดพิกัดต่างๆ เป็นการแสดงแนวทางของเส้นที่กำหนดไหล่ทวีปที่ใช้เป็นพื้นฐานของตัวอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ใช้เป็นพื้นฐานการประกาศพระบรมราชโองการ
ส่วนผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ขึ้นอยู่กับการ เจรจาของทั้งสองประเทศ
สาระสำคัญของ MOU 2544 จึงเป็นข้อตกลงที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันของทั้งสองประเทศ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความทับซ้อนพื้นที่ทางทะเลจากไหล่ทวีป ไม่ใช่เป็นการแบ่งเส้นแดนโดยตรง เรื่องนี้ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2515 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ MOU 2544 ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และการเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 มีขึ้นในสมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จับแพะชนแกะเป็นชนวนการเมืองจนได้.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม