ยังไม่ทราบชัดว่า รัฐบาลไทยจะ ตั้งคณะกรรมการเทคนิค เพื่อเจรจากับกัมพูชาเรื่องเอ็มโอยู 44 ที่เกี่ยวกับปัญหาที่ดินทับซ้อนในอ่าวไทยเมื่อไหร่กันแน่ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติตกลงแล้ว แต่เชื่อว่า อาจใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ ขณะที่ฝ่ายค้านเตือนว่า อาจกลายเป็นเรื่องร้ายแรงถึงกับรัฐบาลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายชื่อดัง เตือนผ่านทางหนังสือพิมพ์ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เท่ากับยอมรับอธิปไตยและเขตอธิปไตย ตามที่เขมรอ้าง เป็นเรื่องร้ายแรงหนักหนามาก ลักษณะของคดีและความรุนแรงของเรื่อง เชื่อว่าถ้าร้องศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ
แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม พูดถึงความตกลงเอ็มโอยู 44 ระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นกลไกที่ดีที่สุด เป็นกลไกเจรจาว่า การแบ่งดินแดนในทะเลเป็นของใครไทยกับกัมพูชาจะต้องเจรจา หากยกเลิกเท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิ ที่ว่าไทยเคยยกเลิกไม่เป็นจริง
ไทยกับกัมพูชา มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ในอ่าวไทย 27,000 ตารางกิโลเมตร กัมพูชาเคยอ้างสิทธิเมื่อปี 2515 แต่ไทยไม่ยอมรับ ฝ่ายไทยอ้างสิทธิในปี 2516 ทั้งสองประเทศจึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อน ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงเอ็มโอยู 44 เพื่อเป็นหลักในการเจรจา แต่แกนนำพรรคพลังประชารัฐคัดค้าน ระบุว่า จะทำให้เสียเกาะกูด
มีความเห็นต่างกันชัดแจ้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อเจรจาเอ็มโอยู 44 กับ กัมพูชาแล้วจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ การคลัง และพลังงาน
...
จะมีการเจรจาเรื่องการพัฒนาทรัพยากร ความมั่นคงในการเดินเรือ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเจรจากับกัมพูชา มีเสียงเตือนจากผู้เห็นต่าง ให้ดูว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนและมัดแน่น มีใครไปเจรจายกพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้กัมพูชาเท็จจริงแค่ไหนไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นจริงจะถือว่าเป็นการขายชาติ ทรยศชาติ เรื่องนี้ต้องตรวจสอบ
พื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศต่างๆ เป็นปัญหามาช้านาน ตั้งแต่ยุคที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม ยึดครองเวียดนามได้ จากนั้นเกิดวิวาทะกับไทย เพราะต้องการดินแดนกัมพูชากับลาว เป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส โดยอ้างว่าทั้งสองประเทศเคยเป็นเมืองขึ้นเวียดนาม และเกิดพิพาทกับไทย จนยอมยกลาวหรือฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงให้ฝรั่งเศส
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม