“พริษฐ์ วัชรสินธุ” ชี้ “ทรัมป์” นั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ “สหรัฐฯ-จีน” อาจตึงเครียด กระทบการค้าไทย แนะประเทศไทยควรปกป้องผลประโยชน์หากถูกบีบให้เลือกข้าง ขออย่าตีกรอบนโยบายปากท้อง-ประชาธิปไตย เพราะทั้งคู่ต้องไปด้วยกัน

วันที่ 6 พ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ให้สัมภาษณ์ในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ขณะนี้ขอมองไปข้างหน้าว่าอาจจะเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะคะแนนนำมามากแล้ว ซึ่งสิ่งที่กระทบกับไทยจะมี 2 เรื่อง คือ ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะสูงขึ้นเมื่ออยู่ในการบริหารของนายทรัมป์ ซึ่งตนมองว่าเป็นทั้งวิกฤติที่ต้องรับมือ โดยที่สหรัฐฯ อาจจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน จึงอาจทำให้สินค้าบางส่วนทะลักเข้าประเทศไทย ซึ่งจุดนี้ในฐานะรัฐบาลไทยจะรับมือเพื่อปกป้องผู้ประกอบการไทยอย่างไร และโอกาสที่จะต้องฉวยมาให้กับประชาชน หากสถานการณ์ระหว่างประเทศตึงเครียด อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นี่จึงเป็นโอกาสที่จะต้องดึงนักลงทุนเข้ามาที่ไทย

ประเด็นที่สอง คือปัญหาโลกรวน ที่นโยบายของนายทรัมป์ไม่ได้เน้นหนักเท่ากับนางแฮร์ริส จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าไทยจะแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่นในโลกกับเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้ก็จะมีการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ (Conference of Parties-COP) ซึ่งตนก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะส่งใครไป เพื่อจะหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากนายทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่ง อาจจะเกิดสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ประเทศไทยต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น นายพริษฐ์มองว่านี่เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเจอ แต่สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้ไทย และในนามอาเซียนร่วมมือปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศ อีกส่วนคือสิ่งที่พรรคประชาชนยืนหยัดมาตลอดคือการทำนโยบายต่างประเทศ โดยมีจุดยืนต่าง ๆ ที่ต้องยึดในหลักการ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีที่ยืนในเวทีโลกต่อไป

...

ถามต่อว่า ในด้านนโยบายของนายทรัมป์ที่เน้นไปในเรื่องการเป็นอยู่ ปากท้องประชาชน จะสะท้อนความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งทุก ๆ ประเทศได้หรือไม่นั้น นายพริษฐ์ระบุว่า ตนไม่ได้ตีความแบบนั้น ซึ่งต้องยืนยันว่าเรื่องประชาธิปไตยและปากท้องเป็นเรื่องเดียวกันต้องไปควบคู่กัน ประชาธิปไตยมีจุดแข็งคืออำนาจของประชาชน เป็นปัจจัยที่รับประกันนโยบายของรัฐบาลว่าจะต้องตอบสนองปัญหาของประชาชน จึงไม่อยากให้มีการตีความว่าประเทศของเราหรือประเทศใดจะหลุดไปอยู่ในกรอบที่จะต้องเลือกระหว่างปากท้องและประชาธิปไตย