“ไอติม พริษฐ์” ข้องใจเลือกตั้งนายก อบจ. ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. หวั่นประชาชนออกมาใช้สิทธิลำบาก หวัง กกต. ทบทวนเป็นวันอาทิตย์ ก่อน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ขอหารือ 28 พ.ย.นี้
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ให้วันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า เป็นเรื่องน่ากังวลที่ กกต. มีมติเห็นชอบวันเลือกตั้ง อบจ. เป็นวันเสาร์ โดยมีข้อกังวล 2 ประการ คือ คนส่วนมากทำงานวันเสาร์ และวันอาทิตย์ลางานไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนา หากวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ เวลาเดินทางก็จะถูกบีบให้แคบลง
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นเหตุผลชี้แจงว่าทำไม กกต. ถึงเลือกวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ เพราะจากสถิติของทุกการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นวันอาทิตย์ทั้งหมด จึงอยากให้ กกต. ทบทวนและเปลี่ยนวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ เพื่อความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จะมีการเชิญให้ กกต. มาชี้แจงกรณีดังกล่าวหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการของเราต้องการให้ กกต. มาชี้แจง ซึ่งนับไม่ถูกว่ากี่เดือนกว่าที่ กกต. จะตอบรับคำเชิญ และล่าสุด กกต. ออกหนังสือว่าหากจะต้องเชิญให้เชิญมาชี้แจง ควรแจ้งก่อน 1 เดือนล่วงหน้า ทางกรรมาธิการของเราจึงได้ทำหนังสือขอเข้าพบ กกต. ในช่วงปิดสมัยประชุม ก่อนได้คำตอบรับว่าให้เข้าพบในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567
...
สำหรับข้อสังเกตว่า นายก อบจ. ทยอยลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ จะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ ยอมรับว่าหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการลาออกก่อนครบเป็นการเพิ่มงบประมาณให้สูงขึ้น ที่ผ่านมากรรมาธิการพยายามศึกษากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องนี้พบว่าทางออกที่พอเป็นไปได้ คือให้วาระของนายก อบจ. และ ส.อบจ. ทุกจังหวัดเกิดขึ้นพร้อมกันทุก 4 ปี หากมีฝ่ายบริหารลาออกก่อน เช่น นายก อบจ. ก็ให้รองนายก อบจ. มาทำหน้าที่แทน
นายพริษฐ์ มองว่า หากเป็นแบบนี้จะได้ประโยชน์หลายเท่า คือประชาชนจะมีความสะดวกมากขึ้นในการออกมาใช้สิทธิ เพราะทุกจังหวัดเลือกตั้งวันเดียวกัน และเลือกตั้งนายก อบจ. กับ ส.อบจ. พร้อมกัน และเป็นประโยชน์ต่อผู้จัดการเลือกตั้งที่สามารถประหยัดงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ต่อสื่อมวลชน เพราะการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะง่ายขึ้น หากวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะง่ายขึ้นกับการวางแผนทำงาน.