จับยามสามตาดูจากสถานการณ์และความเป็นไปของบ้านเมืองที่ไม่ค่อยจะดีนักโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรัฐบาล
นี่ยังไม่รวมเคส “นิติสงคราม” นะ...
แต่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีหลายเรื่องที่ทำท่าจะเกิดปัญหาระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน”
ใครที่ปรามาสว่า “ม็อบ” จุดไม่ติดไม่น่าห่วงนั้นอย่าได้ประมาทเชียวเพราะมันเริ่มตั้งเค้าแล้วจาก 3 ประเด็นที่จะเป็นชนวนไปสู่จุดนั้นได้
ถ้ารัฐบาลไม่ตัดไฟแต่ต้นลมก่อนมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้
1.การแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ดึงดันจะส่งนักการเมืองไปดำรงตำแหน่งนี้
2.“เกาะกูด” ภายใต้เงื่อนไขเอ็มโอยู 44 จะตกเป็นของกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลด้วยข้อหา “ขายชาติ”
3.อภิสิทธิ์ชนที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ไปรักษาที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ซึ่งเรื่องนี้กำลังถูกขยายปมจนดิ้นลำบากแล้ว
ว่าไปแล้วการปลุกม็อบในสมัยนี้เป็นไปค่อนข้างยากเพราะประชาชนเบื่อหน่าย และประเด็นสำคัญคือต้องมีชนวนที่เป็นเงื่อนไขสร้างความรู้สึกร่วมจึงจะเกิดกระแสคล้อยตามได้
แต่ทั้ง 3 ประเด็นนั้นแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่มาเล่าใหม่แต่เนื่องจากมีผลต่อความรู้สึกของประชาชน
ว่ารัฐบาลทำสิ่งที่ขัดใจและขัดกติกาความควรไม่ควร!
อย่างเรื่องแบงก์ชาติที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานแล้วว่านักการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะจะทำให้ขาดความเป็นอิสระ
เกรงว่าการเมืองจะเข้าไปล้วงลูกแต่งตั้งคนของตัวเองดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่กังวลมากนอกจากนี้จำนวนเงินคงคลังซึ่งเป็น หลักประกันในความน่าเชื่อถือด้านเศรษฐกิจของประเทศ
...
ประเด็นใหญ่คือจะทำให้ระบบการเงินของประเทศเสียหาย
ประเทศต่างๆทั่วโลกไม่ว่าเล็ก-ใหญ่จึงระมัดระวังและสร้างมาตรฐานให้แบงก์ชาติปลอดการเมืองเพื่อให้มีความเป็นอิสระ
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือรัฐบาลพยายามที่จะฝืนหลักการนี้
แต่เนื่องจากมีกระแสคัดค้านสูงทั้งจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ พนักงานและกลุ่มการเมืองต่างๆ
ทำให้คณะกรรมการสรรหาต้องเลื่อนการพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 ล่าสุดได้มีม็อบไปชุมนุมที่หน้าแบงก์ชาติทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป
ประกาศด้วยว่าการประชุมครั้งต่อไปก็จะมาชุมนุมคัดค้านอีก
ประเด็นเรื่อง “เกาะกูด” ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเช่นกันและมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่สามารถปลุกอารมณ์คนได้ไม่ยาก
เพราะคำว่า “ขายชาติขายแผ่นดิน” นั้นคนไทยไม่ยอมแน่
อีกเรื่องหนึ่งคือคำว่า “อภิสิทธิ์ชน” ปกติแล้วคนไทยนั้นค่อนข้างจะชินชากับเรื่องนี้เพราะสังคมไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง
ดังนั้นหากมีเรื่องที่มีภาพชัดและค่อนข้างจะเห็นความเป็นไปได้โดยเฉพาะนักโทษการเมืองและมีชื่อเสียงโด่งดังมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
กระแสการไม่ยอมรับมันจึงเกิดขึ้นง่าย...
ทั้ง 3 เรื่องนี้คือปมประเด็นที่สามารถจุดไฟให้จุดพึ่บได้ง่าย
ก็บอกไปถึงรัฐบาลอย่าคิดว่ามีเสียงสนับสนุนแน่น เสถียรภาพมั่นคง แต่เรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อจิตใจคนอย่างนี้
“พ่อนายกรัฐมนตรี” ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลน่าจะเข้าใจเพราะเคยโดนมาแล้ว
พรรคร่วมรัฐบาลควรจะส่งเสียงเตือน “เพื่อไทย” อย่าฝืนกระแสเป็นอันขาดถ้าจะอยู่ร่วมเป็นรัฐบาลนานๆ
“จิ้งจกทัก” ยังต้องฟังนับประสาอะไร!.
"สายล่อฟ้า"
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม