ศิษย์ศิลปากรของศาสตราจารย์เกียรติคุณ กุสุมา รักษมณี ฝากนิทานนางตันไตรย ที่อาจารย์เขียนมาให้ ผมเพิ่งรู้ ไทยเราก็มีนิทานนางตันไตรยหนังสือเก่าสมัยอยุธยา เนื้อหาไปทางเดียวกับอาหรับราตรี พันหนึ่งทิวา อิหร่านสิบสองเหลี่ยม...หรือชุดนิทานปัญจตันตระ ที่มีอยู่ใกล้มือ

เปิดอ่านต้นเรื่องปัญจตันตระ ชุดนิทานอมตะ การแตกมิตร (ศักดา วิมลจันทร์ แปล สำนักพิมพ์พื้นฐานพิมพ์ พ.ศ.2551) อีกสักที คราวนี้ผมตั้งชื่อเรื่องใหม่ หลักสูตรนายกฯ 6 เดือน

ใคร? ที่เคยเป็น อยากเป็น หรือกำลังเป็น จะไม่อ่านก็ตามใจ

ดังมีเรื่องเล่ากันว่า ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าอมรศักดิ์ เป็นผู้ทรงธรรมจรรยาและพระปรีชาสามารถ พระราชอาณาจักรสงบร่มเย็นเป็นสุขทุกหย่อมหญ้า

แต่องค์พระราชากลับทรงหาความสุขมิได้

เนื่องจากพระโอรสทั้งสาม เจ้าชายเศรษฐศักดิ์ เจ้าชายมหันตศักดิ์ และเจ้าชายอนันตศักดิ์ ไม่สนพระทัยในการศึกษา พระราชาทรงวิตก เมื่อสิ้นพระชนม์จะไม่มีผู้เหมาะสมจะรับช่วงดูแลแผ่นดิน

ดังนั้น วันหนึ่งจึงมีพระบัญชาเรียกบรรดามหาอำมาตย์และที่ปรึกษามาประชุม เนื้อหาที่ทรงปรารภ ศักดา วิมลจันทร์ แต่งเป็นกลอนไว้ว่า

จะเลี้ยงโคไปไย ถ้าไม่หวังจะได้หนังนมเนื้อ เสียเหงื่อเปล่า ถ้าเลี้ยงบุตรดื้อบ้าปัญญาเบา จะโง่เขลาเลี้ยงไปทำไมกัน...

จบประโยคที่บางคนฟังแล้วจี๊ดเข้าหัวใจ พระราชาตรัสว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกท่านจงช่วยคิดหาหนทางทำให้ลูกของฉัน

มีสติปัญญาตามสมควรด้วยเถิด”

อำมาตย์คนหนึ่งกราบทูลว่า บุคคลควรเริ่มการศึกษาภาษาและไวยากรณ์ หลักสูตร 12 ปี สำเร็จแล้วก็ศึกษาตำราทั้งทางโลกทางธรรม จึงพอจะเรียกได้ว่า เป็นผู้มีสติปัญญา

แต่อำมาตย์ชื่อเฉลียวกราบทูลตรงพระทัยกว่าว่า

...

“ชีวิตคนสั้นนัก ตำราทั้งหลายก็มีมากเกินกว่าจะศึกษาได้หมดสิ้น ทั้งยังเห็นอยู่แล้วว่าพระโอรสไม่ทรงโปรดการ

ศึกษา แต่ถ้าพระโอรสได้เรียนสิ่งอันเป็นแก่นของความรู้ ก็น่า จะเพียงพอ”

บอกทางแล้ว อำมาตย์เฉลียวก็กราบทูลต่อ “ในราชอาณาจักรนี้ ยังมีบรมครูพราหมณ์ชื่อ “วิษณุศรม” มีความรู้กว้างขวางมากพอ ที่จะสอนพระโอรสให้เฉลียวฉลาดได้”

พราหมณ์วิษณุศรมมาตรงหน้า ปฏิเสธทรัพย์สินมีค่าที่

พระราชาเสนอให้ “ข้าพระองค์อายุ 80 แล้ว ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร แต่จะขอสนองพระบารมี

ยินดีจะสอนพระโอรสให้มีสติปัญญาเฉียบแหลมแตกฉานเหนือคนทั้งปวง ภายในเวลาหกเดือน

จากนั้นพราหมณ์ก็สอนพระโอรสด้วยตำราห้าเล่ม เล่มแรก การแตกมิตร เล่มสองการผูกมิตร เล่มสามกากับนกเค้าแมว เล่มสี่ลาภหาย และเล่มห้าไม่รอบคอบ

และผลปรากฏ พระโอรสทั้งสามจบหลักสูตรปกครองเมืองในหกเดือน...และหนึ่งในสามถูกเลือกเป็นพระราชา

คนต่อไป หลังพระราชาอมรศักดิ์สิ้นพระชนม์

ผู้รู้เชื่อว่าวิชาสอนเป็นนายกฯในหกเดือน...เริ่มต้นที่แคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย ก่อน ค.ศ.200 ปี

และจากนั้นก็แพร่หลายไปทั่วโลกในชื่อตำราที่แตกต่าง นับถือกันเป็นวรรณกรรมที่ชาวฮินดูเรียกว่านิติศาสตร์ หรือวิชากันว่าด้วยจริยธรรมทางการเมือง

อ่านถึงตอนนี้ เฮ้ย! เว้ย! หลายคนคงอุทาน นี่มันเป็นวิชา ที่ไม่มีครูสอนในบ้านเมืองเรา หันไปทางไหนจึงเจอแต่นักการเมืองที่ไม่โกงบรรลัยก็โง่เกินไป.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม