“อนุทิน” บอก ไม่เคยได้ยินพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปลื้มแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ย้ำ ทุกตารางนิ้วเกาะกูดเป็นของไทย ชี้ MOU 44 ยกเลิกได้ แต่ต้องเจรจาให้เห็นพ้องทั้งสองฝ่าย
เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนประชุมพรรคร่วมรัฐบาลตามคำเชิญของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ได้รับแจ้งว่า นายกฯ ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุย น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรืออะไรต่างๆ ซึ่งตนต้องฟังที่ประชุม เพราะเป็นการหารือโดยที่ไม่มีเอกสารหรือวาระประชุมใดๆ เป็นการหารือทั่วไป และเป็นไปตามที่นายกฯ เคยพูดไว้ว่าถ้ามีประเด็นอะไรให้มันเป็นทางการน้อยๆ หารือกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เดี๋ยวก็ไปฟัง เมื่อหารือเสร็จท่านคงมีข้อมูลมาให้ผู้สื่อข่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ปลื้มโครงการหรือนโยบายใดๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ที่จะนำมาหารือ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรไม่ปลื้มเลย ทำงานด้วยกัน เมื่อถามถึงกรณีการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปลื้ม ได้ยินเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ยังไม่เคยได้ยินเลย
ส่วนกรณี MOU 2544 พรรคภูมิใจไทยมีข้อห่วงใยหรือกังวลอะไรหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ในฐานะตนเป็น รมว.มหาดไทย โดยเจตนารมณ์และการไปสืบหาข้อมูลหลักฐานอะไรต่างๆ ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีประเด็นอื่นใดทั้งสิ้น เกาะกูดเป็นดินแดนในราชอาณาจักรไทยทุกตารางนิ้ว เรามีพี่น้องประชาชนอยู่ที่นั่น ได้รับการยกฐานะให้เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ตราด ฉะนั้น ข้อกังวลอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกาะกูดว่าจะมีการเสียดินแดนบางส่วนจากเส้นที่เขาลากมา ขอยืนยันว่าไม่มี เพราะมีทั้งพระบรมราชโองการ และยังมีข้อมูล รวมถึงบันทึกต่างๆ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่า เกาะกูดเป็นของไทย
...
ทางด้านคำถามในประเด็นที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 เพื่อลดความหวาดระแวงนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เอ็มโอยู (MOU) หรือบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เป็นการลงนามทั้งสองฝ่าย ถ้าจะยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกไม่ได้ เพราะเป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย เรื่องนี้ก็ชัดเจน ฉะนั้น ต้องระวังในเรื่องของการรับข่าวสาร บางกลุ่มไปพูดว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เคยจะถูกยกเลิกหลังจากมีการลงนามไปแล้ว ถามว่ายกเลิกได้หรือไม่ ยกเลิกได้ แต่ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน
“เหมือนกับสัญญาอยู่ดีๆ เราไปเซ็นอะไรร่วมกับเขาแล้วบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ชอบ ยกเลิกฝ่ายเดียว แต่ถ้าเกิดเขาบอกว่าก็ไม่ชอบเหมือนกัน ตรงนี้ยกเลิกได้ ส่วนถ้าเขาบอกว่ามันยังต้องเป็นไปตามนั้นอยู่ มันเป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตรงนี้อยากฝากผู้สื่อข่าวอย่าไปเสนอประเด็นว่าเอ็มโอยูฉบับนี้จะถูกยกเลิก หรือมีการนำเสนอจะให้ยกเลิก ทั้งหมดต้องผ่านการเจรจา อยากจะยกเลิก ยกเลิกได้ก็ต้องไปเจรจากับเขาว่าควรจะยกเลิก ถ้าเขายอมก็ยกเลิกได้”