การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีเรื่องวิตถารเกิดขึ้นบ่อยๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิธีการปกติ ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจมีเทวดาหวงแหน “รัฐธรรมนูญของข้าใครอย่าแตะ” บางคนตะโกนถามดังๆ “ไม่แก้รัฐธรรมนูญจะตายไหม” อาจไม่มีใครตาย แต่รู้สึกขายหน้าที่การเมืองบ้านเราล้าหลัง
กลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นักกฎหมายของพรรคการเมือง อย่างอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย จึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง มิฉะนั้น แก้ไขไม่ทันเลือกตั้ง ในปี 2570 แน่ เพราะ สว.คัดค้าน แม้แต่ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จึงต้องเสนอแนวคิดใหม่
แนวคิดใหม่ก็คือ แทนที่จะให้ประชาชนลงประชามติ 3 ครั้ง ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เสนอปรับใหม่ให้เหลือเพียง 2 ครั้ง แต่มีผู้ท้วงติงว่าระวังขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องลงประชามติ 3 ครั้ง อย่าลืมว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่องค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญกำลังเฟื่องฟู
ความล้าหลังอีกอย่างหนึ่งของการเมืองไทย จากผลสำรวจความเห็นคนไทย ส่วนใหญ่เห็นว่าผู้มีอิทธิพลมากสุดในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยกลับไม่ใช่ “นักการเมืองแท้” แต่เป็น “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร (61.07%) และนายเนวิน ชิดชอบ (13.54%) ซึ่งอ้างว่าวางมือ การเมือง
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อว่ามีอิทธิพลมากที่สุด ณ วันนี้ คือ พรรคเพื่อไทย (70.80%) พรรคภูมิใจไทย (19.46%) พรรคประชาชน (7.46%) แต่เมื่อถามว่าพรรคไหนจะมีอิทธิพลมากที่สุด ในการกำหนดทิศทางการเมือง ในการ เลือกตั้งคราวหน้า พรรคประชาชนกลับพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 31.63%
...
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่เพิ่งจะมาแก้ยาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่แก้ไขได้ยากสุดมาตั้งแต่รัฐบาลคณะรัฐประหาร คสช. มีหลายพรรคพยายามแก้ไข ทั้งแก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ถูกคว่ำลงด้วยอิทธิฤทธิ์ของสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว.ชุดแรก 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
สว.ชุดแรกยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้แค่ประเด็นเดียว คือแก้ไขบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ ส่วน สว.ชุดที่ 2 ในขณะนี้ มี 200 คน ตามทฤษฎีถือว่า มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ แต่ในโลกของความเป็นจริง มีเสียงวิจารณ์อีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งสองคณะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมี ปัญหาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม