ผมตั้งใจมาเป็นสัปดาห์แล้วว่า วันนี้ (จันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน) จะเขียนถึงงานสำคัญงานหนึ่งที่พี่ๆและเพื่อนๆชาวธรรมศาสตร์ที่รวมตัวกันเป็น “ชมรมเพื่อนโดม” และ “มูลนิธิเพื่อนโดม” จัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (5 พฤศจิกายน)
ได้แก่งาน “วันธรรมศาสตร์สามัคคี” เพื่อรำลึกถึงวันแห่งการรวมพลังของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2495 หรือเมื่อ 72 ปีมาแล้ว ในการเข้า “ยึดคืน” อาณาบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ถูกฝ่ายเผด็จการใน พ.ศ.นั้น เข้ามายึดครอง...กลับมาได้อีกครั้ง
ซึ่งในงานนี้นอกจากจะมีพิธีสงฆ์ พิธีรำลึกถึงวีรกรรมนักศึกษาในอดีตแล้ว ในช่วงหลังๆนี้ยังจะมีการมอบรางวัลอันทรงเกียรติรางวัลหนึ่ง เรียกว่ารางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ให้แก่ศิษย์เก่า 1 ท่าน และ 1 รางวัลเท่านั้นในแต่ละปี
ผมจึงตั้งใจที่จะเขียนถึงก่อนงานนี้จะเริ่มขึ้น 1 วัน เพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์รับรู้ข่าวล่วงหน้า จะได้ไปร่วมงานกันได้โดยสะดวก
แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันนี้ หากไปเขียนถึงวันอื่นๆก็จะช้าเกินไปทำให้ผมต้องตัดสินใจแบ่งคอลัมน์นี้ออกเป็น 2 ส่วน เขียนถึงเรื่องของ “ธรรมศาสตร์” และ “เหตุการณ์” ดังกล่าวดังที่ “พาดหัวไว้” ข้างบนคอลัมน์วันนี้
ในส่วนแรก--ผมขอแสดงความยินดีกับพี่ มานิจ สุขสมจิตร พี่ใหญ่ของพวกเราชาวไทยรัฐ ที่ทาง “ชมรมเพื่อนโดม” ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ 2567” ให้แก่พี่ และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) เวลาประมาณ 09.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4
หลังจากนั้นจะมีการบรรยายการแสดงปาฐกถาพิเศษ 2-3 เรื่อง จบด้วยการรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน--ขอเรียนเชิญเพื่อนๆ ธรรมศาสตร์ทุกคนไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงนะครับ
...
สำหรับส่วนที่ 2 นั้น เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวันนี้จันทร์ที่ 4 พ.ย. เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมของ คณะกรรมการสรรหาบุคคล ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ก็ได้มีกลุ่มนักวิชาการ “กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม” จำนวน 227 ท่าน พร้อมด้วยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์คัดค้านในกรณีที่มีการเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในข่ายว่าจะเป็นคนของพรรคการเมือง เข้ามาให้คณะกรรมการคัดเลือกด้วย
ทำให้หวั่นเกรงว่าหากบุคคลดังกล่าวได้รับการคัดเลือก จะเป็นเหตุให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งควรจะเป็นอิสระในการดำเนินงานต่างๆ ต้องตกอยู่ภายใต้การ “ครอบงำ” ของพรรคการเมือง
แม้ในแถลงการณ์จะมิได้มีการเอ่ยชื่อบุคคล แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีเพราะมีรายชื่อแคนดิเดตอยู่เพียง 3 ท่านเท่านั้น
ได้แก่ 1.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 2.นายกุลิศ สมบัติศิริ และ 3.ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
จะเป็นด้วยโชค ด้วยเคราะห์ หรือด้วยพรหมลิขิตก็แล้วแต่เถิด บันดาลให้ ผมรู้จักทั้ง 3 ท่านอย่างดียิ่ง จะเรียกว่าถึงขั้น “สนิทสนม” ทุกท่านก็คงได้...โดยมารยาทแล้วควรจะวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด
แต่เมื่อคำนึงถึงหลักการและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นส่วนรวม ผมคงต้องขออนุญาตเซ็นชื่อเป็นรายที่ 228 อีกรายหนึ่ง เพราะเห็นด้วยและเชื่อตำราการเงินการธนาคารทุกเล่มที่แต่งขึ้น และใช้เรียนใช้สอนในโลกทุกวันนี้ว่า “ธนาคารกลาง” จะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ โดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
ผมจึงขอฝากความหวังไว้กับท่านคณะกรรมการสรรหาที่จะประชุมพิจารณาเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติในวันนี้ ขอให้ท่านใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบรอบด้านเป็นที่สุด
ในแง่ความสามารถของแคนดิเดตทั้ง 3 ท่านก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เป็นประธานกรรมการแบงก์ชาติได้ทุกท่าน ฉะนั้นโปรดดูเฉพาะ “จุดอ่อน” ก็แล้วกัน ใครใกล้ชิดการเมืองมากที่สุดก็ตัดคนนั้น––ตัดทีละคนทีละคนเดี๋ยวก็ได้ตัวผู้ที่เหมาะสมเองแหละครับ.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม