“รมว.นฤมล” เผย ก.เกษตร จับมือ “หัวเว่ย” ใช้เทคโนโลยี Digital Power นำพลังงานทางเลือกไปใช้ลดต้นทุนการผลิต เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร


วันที่ 1 พ.ย. 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการหารือร่วมกับ นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เรื่องความร่วมมือด้านการเกษตร พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองฝ่าย

โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ขยายตลาดสินค้าเกษตรที่มีอยู่เดิมและเพิ่มตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และสามารถวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร

ขณะที่บริษัทหัวเว่ย ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด และให้การแปลงพลังงานเป็นระบบดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนพลังงานเพื่ออนาคตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือของบริษัทฯ ในการพัฒนาภาคการเกษตร พร้อมเสนอแนวทางการสร้างตลาด สร้างงาน เพิ่มรายได้ โดยเทคโนโลยี 1. Digital Power เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถนำพลังงานทางเลือกไปใช้ลดต้นทุนการผลิต การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อลงทุน 2. Digital Connectivity เพื่อเชื่อมโยงระบบเครือข่ายพื้นที่ห่างไกล กสทช. ศูนย์พิรุณราช รวมถึงการบริการเครือข่ายไร้สายในบางพื้นที่ของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 3. Digital Platform เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาเพิ่มศักยภาพในการผลิต และการขายสินค้าเกษตร รวมถึงนำเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ใน 3 กลยุทธ์ 1) Agriculture Learning Hub (สร้างคน สร้างทักษะ ยกระดับองค์ความรู้ทั้งระบบ) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อเกษตรยุคใหม่ 2) Digital Farm & Market (สร้างตลาด สร้างงาน เพิ่มช่องทาง สร้างรายได้) เพื่อสร้างตลาดและฟาร์มดิจิทัล 3) Ecosystem & Connected All (สร้างการบูรณาการ ปลูกขายออมเพิ่มความมั่งคั่ง) เพื่อเชื่อมต่อระบบ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้เกษตรกร

...

“ดิฉันได้กล่าวขอบคุณบริษัทหัวเว่ย ที่มีความมุ่งมั่นในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรไทย ในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งทักษะที่จำเป็นในการทำเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทย ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ตลอดจนผลักดันความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในอนาคต” นางนฤมล กล่าว