ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้อง “วัฒนา อัศวเหม” ปม องค์คณะผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิต สั่งจำคุกคดีคลองด่าน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณา
วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีสำคัญ กรณีที่นายวัฒนา อัศวเหม (ผู้ร้อง) (โดยนายยุทธชัย เข็มเฉลิม ผู้รับมอบฉันทะ) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กล่าวอ้างว่า การกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 254/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 และการกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญา คำพิพากษาที่ 8064/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 28 วรรคสาม และมาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 339 (8) และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตและองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 28 วรรคสาม และมาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า
ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
...
สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีการทุจริตการจัดซื้อที่ดิน และสัญญาโครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ของนายวัฒนา พร้อมตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี ทำให้นายวัฒนา หลบหนีออกนอกประเทศ จนคดีหมดอายุความ 15 ปี นายวัฒนา จึงเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ในพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของนายสุนทร ปานแสงทอง อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์