นาย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการ ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปิดเผยจะมีการประชุมกรรมาธิการร่วมสองสภาคือ สส. และ สว. หลังจากที่ สว.มีมติไม่รับร่างของ สส.ที่ผ่าน 3 วาระไปแล้ว ทำให้ต้องมาตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อจะตัดสินใจว่าจะให้มีการทำประชามติ สองชั้น หรือ ชั้นเดียว (ยึดเอาเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนและเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนน หรือเอาเฉพาะเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนอย่างเดียว) ถ้ากรรมาธิการร่วมสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ไม่รู้จะหาทางลงอย่างไร ท้ายที่สุด ต้องไปเริ่มต้นกันใหม่เมื่อไหร่สมัยไหนก็ไม่รู้ สรุปแล้ว ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่หาเสียงกันเอาไว้ พรรคประชาชน ต้องจั่วลมตามเคย เป็นอันว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจาก สว.จะเห็นด้วยเท่านั้น

เรื่องของ กฎหมายนิรโทษกรรม ก็ไม่ต่างกัน ตั้ง คณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ทั้งที่มีร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับที่เตรียมบรรจุในวาระการพิจารณา เพราะฉะนั้น คำว่ากฎหมายนิรโทษกรรมมีเป้าหมายที่จะลดความขัดแย้งไม่มีอยู่จริง แต่ถูกใช้เป็นเกมการเมือง และปลดล็อก คำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เข้าใจว่าที่พรรคการเมืองไม่ต้องการไปแตะต้องก็คือ การนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.110 ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือรัชทายาท ม.112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่อ้างว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ยกเว้นความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.288 ฐานฆ่าผู้อื่น ม.289 ฆ่าผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรจ์ ที่ไม่เข้าข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

การแยกประเภทของคดี ที่จะเข้าข่ายเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมืองหรือไม่มีองค์ประกอบจากแรงจูงใจ เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เข้าข่ายความผิดทางอาญาโดยตรงหรือแรงจูงใจทางการเมืองที่มีฐานความผิดอื่นประกอบด้วย ซึ่งบางคดีอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน บางคดีอยู่ในชั้นศาล และยังมีเรื่องของความผิดทางอาญาในการละเมิดต่อสถาบันร่วมด้วย ยิ่งตัดสินว่าจะเข้าข่ายความผิดในลักษณะใด สมควรจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ยากเข้าไปอีก โดยเฉพาะความรับผิดชอบอยู่ที่รัฐบาลด้วยแล้ว ย่อมมีความหวาดระแวงเป็นพิเศษ

...

ข้อสังเกตของกรรมาธิการฯที่ถูกตีตกในสภา ระบุให้ ครม.รีบศึกษาแนวทางของกรรมาธิการฯเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะต้องรวมความผิดตาม ม.110 และ 112 เข้าไว้ด้วย ไม่ว่าจะแบบสุดโต่งหรือมีเงื่อนไข หรือควรให้รัฐดำเนินการแก้ไขกฎหมายบางฉบับในระหว่างการรอกฎหมายนิรโทษกรรมให้สอดคล้องกับกฎหมายนิรโทษกรรม หรือควรคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ได้รับการนิรโทษกรรม ล้วนแต่เป็นเชือกรัดคอตัวเอง

จากข้อมูลของกรรมาธิการฯ มีคดีการเมืองที่ค้างอยู่กว่า 683,799 คดี ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร หรือเป็นความผิดทางอาญา เช่น ความผิดต่อร่างกาย 3 แสนกว่าคดี ความผิด ฐานบุกรุก กว่า 1 แสนคดี ความผิดตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน กว่า 7 หมื่นคดี ทำให้ เสียทรัพย์เกือบ 7 หมื่นคดี ทำให้เกิดเพลิงไหม้ 9 พันกว่าคดี ความอ่อนไหวอยู่ที่จะแยกความผิด ม.110-112 จากคดีอาญาอย่างไร แล้วก็จะจบลงอย่างไร ชนวนการเมือง หรือไม่มีนิรโทษกรรม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม