“ณัฐวุฒิ” สแกนม็อบ เชื่อไม่ถึงขั้นมีชุมนุมใหญ่ทางการเมืองเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา หวังใจพรรคการเมือง-ภาคประชาชนใช้ช่วงปิดประชุมสภาหาข้อสรุปปมเห็นต่างนิรโทษกรรม

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ตนปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งการติดตามประเมินสถานการณ์ ประสานงานทางการเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงานส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนั้นก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีให้มาดูเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ตอบว่า ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองยังไม่ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ส่วนผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหรือประสบความเดือดร้อนจากปัญหาการทำกินหรือการดำรงชีพต่างๆ ก็มี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานงานความคืบหน้าอยู่แล้ว

ส่วนคำถามว่าในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุม สถานการณ์ตอนนี้จะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวจริงๆ มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งในรูปแบบการชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ หรือรูปแบบการรวมตัวและแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่ในขั้นของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ หลักหลายหมื่น หลักแสนคนเป็นเวลานานๆ อย่างที่เราเคยเห็นหลายครั้งในรอบ 20 ปีมานี้ เข้าใจว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีหน่วยงานหรือปฏิบัติการอะไรที่จะติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ ยังเพียงเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมุ่งเน้นการผลักดันผลงาน การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า

...

ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ที่เข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำอะไรในการทำงานไปบ้าง นายณัฐวุฒิ เผยว่า สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เราใช้การพูดคุยกันในวงของคณะทำงาน ตนคงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรถึงรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อตรงนี้ หากเราเห็นว่าเรื่องนี้มีมุมมองอย่างไร หรือมีทัศนะประเมินสถานการณ์แบบไหน ก็นำเรียนไปตามช่องทาง

ทางด้านคำถามว่ามีชนวนใดที่จะทำให้จุดม็อบได้ นายณัฐวุฒิ มองว่า การไม่ไปเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อันนี้เป็นเรื่องหลักที่ทุกรัฐบาลไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว จะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ก็ไม่ได้มีท่าทีทำนองนี้ ขณะนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาลคือพยายามผลักดันนโยบาย หรือเนื้องานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ แต่การจัดบรรยากาศการจัดเวทีในการดำเนินการเรื่องนี้มันมีความละเอียดอ่อน คิดว่าควรให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสภาว่ากัน ใครมีความคิดเห็นแบบไหนก็แสดงออกกันด้วยท่าทีและเวทีที่เหมาะสมน่าจะดีที่สุด

ขณะที่ตั้งแต่มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. ออกมาเตือนว่าสักวันสิ่งที่นายณัฐวุฒิ เคยทำหรือพูดไว้ อาจจะกลับมาทำลายตัวเองนั้น นายณัฐวุฒิ เผยว่า ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกันเป็นทางการส่วนตัว แต่ตนก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ มีวิถีทางในการเลือกเดิน และยังแน่ใจว่าความเป็นตนเองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วิธีการคิดและเดินอาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างไปตามสถานการณ์ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และตลอดเส้นทางที่ผ่านมาเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนมิตรและพี่น้อง ตนเลือกที่จะเงียบและทำตามในสิ่งที่เชื่อ เดินตามทางที่เลือก ให้เวลามันอธิบายเรื่องทั้งหมดดีกว่า

เมื่อถามถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ดูเหมือนจะยากขึ้น ต้องมีอะไรออกมาหรือไม่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทุกนาทีรัฐบาลเร่งทำงานกันอยู่แล้ว แต่ยังมีเวลาอยู่เกือบ 3 ปี เรื่องอะไรก็ตามที่สื่อมวลชนบอกว่ายาก มันอาจจะคลี่คลายง่ายขึ้นและมีผลที่ปฏิบัติได้ การทำงานทางการเมืองในรัฐบาลผสมไม่มีอะไรที่จะเดินไปได้ก้าวใหญ่ๆ และเร็วทุกเรื่องอยู่แล้ว เรื่องที่เห็นด้วยและเรื่องที่เห็นต่างก็มีเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะหาทางและมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้เดินไปต่อได้ เมื่อพรรคเพื่อไทยตัดสินใจที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ความรับผิดชอบทั้งหลายต่อปัญหาของพี่น้องประชาชนก็ต้องทำกันให้เต็มที่ นโยบายและการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะปรากฏชัด ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ

ในประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบถึงรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ระบุว่า เรื่องนิรโทษกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันไม่มีข้อโต้แย้ง คือเห็นชอบว่าควรจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงที่ผ่านมา แต่ที่ยังเห็นต่างต่อกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะครอบคลุมถึงความผิดมาตรา 112 นั้น เอาตรงๆ ยังเห็นต่างกันอยู่ในชั้นนี้ ตนเห็นว่าสภากำลังจะปิดสมัยประชุม และจะมีการพิจารณากฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร ก็อยู่ที่สมัยประชุมหน้า ดังนั้น ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการประชุมสภา เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ตลอดจนกลุ่มก้อนภาคประชาชนที่ได้เคลื่อนไหว คงจะได้มีการปรึกษาหารือกัน และการที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ หลักการคือจะต้องไม่ไปขยายความขัดแย้งใดๆ เพิ่ม

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไป ตนจึงคิดว่าการรักษาบรรยากาศไม่ให้ช่วงเวลานี้ไปมีเงื่อนไขความขัดแย้งอะไร หากจะพูดคุยกัน เช่น ทางพรรคเพื่อไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าจะมีกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการบริหาร จะหารือและมีข้อสรุปว่าจะมีร่างออกมาประกบหรือไม่ รวมถึงส่วนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาคุยกันภายใน ถึงเวลาก็ต้องเอาไปคุยกันในสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภาที่จะไปพูดคุยกัน

“ส่วนจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้ ผมได้แสดงความเห็นไปหลายที่ ยังคงมีจุดยืนเดิม และนี่เป็นจุดยืนส่วนตัวที่พูดมาตลอดก่อนที่จะมาทำหน้าที่ และหวังใจเวลาที่ยังเหลืออยู่ ข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างต่างๆ แต่ละฝ่ายที่กำลังคิดไม่เหมือนกัน น่าจะยังมีเวลาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกันได้” จากนั้น นายณัฐวุฒิ จึงเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า