พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ภายใต้ MOU 2544 ที่ไทยทำกับกัมพูชาในสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ กลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ช่วงที่ไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ สปป.ลาว ว่า จะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย สามารถนำก๊าซธรรมชาติในบริเวณนั้นขึ้นมาใช้ คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านบาท จากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะสูงถึง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต
แต่ปัญหาใหญ่ที่ไทยกับกัมพูชาเจรจามานานถึง 20 ปี 8 รัฐบาลแล้ว ก็ยังไม่สามารถสรุปได้คือ เขตแดนไทยกัมพูชาที่ทับซ้อนกัน จะเจรจาปักปันเขตแดนให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเจรจาแบ่งก๊าซน้ำมัน หรือเจรจาแบ่งก๊าซและน้ำมันก่อน แล้วค่อยเจรจาปักปันเขตแดนทีหลัง
เท่าที่ฟังมา เสียงพรรคการเมืองส่วนใหญ่รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และประชาชนทั่วไป ต่างก็ไม่เห็นด้วย กับ “ผู้นำรัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ที่จะเร่งเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซน้ำมันก่อน แทนที่จะเจรจาตกลงปักปันเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะดูจากแผนที่ฝ่ายกัมพูชาในปัจจุบัน มีการขีดเส้นผ่า “เกาะกูด” ของไทยแบ่งออกเป็นสองซีก โดยใช้ยอดสูงสุดของเกาะกูดเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ถ้าไทยยอมรับแผนที่กัมพูชา ก็เท่ากับไทยต้องเสียดินแดนเกาะกูดให้กับกัมพูชาไปครึ่งเกาะ และ เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของไทยก็จะหดสั้นเข้ามาด้วย จนถึงกับมีการพูดว่า “ขายชาติ” กันเลยทีเดียว
วันก่อน คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหม พี่เลี้ยงตัวจริงเสียงจริงของ นายกฯแพทองธาร ได้ออกมาแถลงแทนยืนยันว่า “เกาะกูด” เป็นของไทยมาตลอด ไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาอยากจะเอา (ไม่รู้ไปรู้ใจผู้นำกัมพูชาได้อย่างไร?) และกล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทุกประเทศมีหลักการคือ วัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล อ่าวไทยก็แคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกัน มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ก็ใช้วิธีพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์
...
ทั้งหมดที่ คุณภูมิธรรม พูดมา ก็ถูกต้องในแง่หลักการ แต่ที่สำคัญที่สุด คุณภูมิธรรม ในฐานะรองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหม มีหน้าที่สำคัญต้อง “ปกป้องดินแดนของประเทศด้วย” ไม่ใช่คิดแต่เรื่องผลประโยชน์อย่างเดียว เพราะใน “สนธิสัญญาฟรังโก-สยาม” ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ระบุไว้ชัดเจนว่า “เกาะกูดอยู่ในเขตแดนไทย” แต่กัมพูชาถือว่าเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา คือ เส้นแนวเล็งจากหลักเขตที่ 73 ผ่านยอดสูงสุดของเกาะกูดตรงออกไปทะเล ซึ่ง กินพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ และล้ำเส้นเขตแดนของไทยเข้ามาด้วย จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน เป็นเรื่องสำคัญที่ คุณภูมิธรรม ในฐานะ รัฐมนตรีกลาโหม จะต้องปกป้องดินแดนไทยตามอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่มองแต่เรื่องผลประโยชน์
ไทยและกัมพูชา เริ่มเจรจา แบ่งไหล่ทวีปกันเดือนธันวาคม 2513 แต่การเจรจายังไม่ได้ตกลงกัน ปี 2515 กัมพูชาก็ประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย 200 ไมล์ทะเลฝ่ายเดียว ต่อมา ปี 2516 ไทยก็ประกาศไหล่ทวีปเป็น 200 ไมล์ทะเลเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย 27,960 ตร.กม. จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเจรจาปักปันเขตแดนได้
ปี 2548 บริษัทเชฟรอน เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อน ทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา สำรวจพบบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในพื้นที่ 2,427 ตร.กม. ทางตอนใต้ของกัมพูชา ประเมินมูลค่าเบื้องต้นสมัยนั้น มูลค่าก๊าซธรรมชาติ 3.5 ล้านล้านบาท มูลค่าน้ำมัน 1.5 ล้านล้านบาท พื้นที่ทับซ้อนตรงนั้นจึงเป็น “อภิมหาขุมทรัพย์ใต้ทะเล” ที่ไทยและกัมพูชาหมายปองมาหลายสิบปี ปัจจุบันผู้นำสองประเทศเป็นเพื่อนรักกัน จึงมีการหยิบยกขึ้นมาเจรจากันใหม่ ไม่รู้แบ่งแล้วใครรวยกว่ากัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม