“นายกฯ แพทองธาร” พร้อม 2 รัฐมนตรี พูดคุย กกร. หารือแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ หวังภาครัฐ-เอกชนร่วมมือกัน ด้าน “สนั่น” เผย เชื่อมั่นรัฐบาล
วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยจากทุกภาคส่วน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
...
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีและต้อนรับ กกร. เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ดีใจที่ได้เจออีกครั้ง โดยครั้งแรกก่อนวันแถลงนโยบายของรัฐบาล วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้เจอกันอีก จริงๆ วันนี้อยากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะครั้งที่แล้วที่ได้รับฟัง รู้สึกว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วประเทศไทยประสบปัญหาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน 10 ปี และแน่นอน ผลกระทบส่งถึงประชาชน หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนได้พูดคุยร่วมมือกัน
ทั้งนี้ เราไม่สามารถที่จะพูดได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา ที่จะต้องหารายได้ใหม่ๆ ที่จะเข้าประเทศนั้นสำคัญมาก โดยจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ อย่างที่รัฐบาลทำ มีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ เราก็พยายามสื่อสารและก็ร่วมมือกับเอกชนจำนวนมาก เพราะคิดว่าเอกชนคือภาคที่สำคัญในการทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นได้และสนับสนุนประชาชนได้ด้วย จึงอยากให้รัฐและเอกชน ทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนและรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาล
ด้านนายสนั่นกล่าวว่า เชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร. จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การบริหารจัดการน้ำและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายสนั่นกล่าวว่า ควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการทางภาษีที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย
นายกรัฐมนตรีกล่าวช่วงท้ายว่า จะติดตามดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำไว้ดีอยู่แล้วให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดความสะดุด ซึ่งทีมงานยังคงเป็นทีมงานเดิม และขอบคุณคำแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ กกร. และเห็นด้วยที่จะมีการนัดหารือกันในลักษณะนี้ต่อไป โดยเฉพาะการประชุมเช่นนี้ เพื่อจะให้มีการเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปอีก จากนั้นนายสนั่นกล่าวเสริมว่า ในปีหน้าจะต้องช่วยกันทำให้จีดีพีเติบโตขึ้น 4% และให้คำมั่นว่าสามารถเรียกใช้ได้ กกร. ได้ พร้อมชื่นชมว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาเศรษฐกิจเก่งที่สุด