“วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” เผย ได้รับเลือกนั่ง กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี เตรียมใช้โอกาสขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในระดับนานาชาติ ย้ำชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยเดินหน้าทำงานเพื่อสิทธิทุกเพศสภาพทั้งในมิติการเมือง-เศรษฐกิจ

วันที่ 25 ต.ค. 2567 นางสาววิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 4 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานสมาชิกชมรมรัฐสภาสตรีไทย กล่าวถึงกรณีที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สหภาพรัฐสภาสตรี (Inter-Parliamentary Union’s Bureau of Women Parliamentarians) ในสัดส่วนของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้รับเลือกในที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

โดยนางสาววิสาระดี กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ที่เลือกให้ตนได้รับตำแหน่งนี้และยืนยันว่าจะใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทนของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งทั้ง 2 ปีครึ่ง จะมุ่งมั่นส่งเสริมให้มีการยกระดับบทบาทของสตรีไทยและสตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

นางสาววิสาระดีกล่าวต่อว่า ตั้งแต่ที่ตนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ตนก็ได้ผลักดันประเด็นในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงานเพื่อคนทุกเพศสภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างความเสมอภาคทางเพศในสังคม ผ่านกิจกรรมเสวนาที่ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศมาโดยตลอด อาทิ Westminster Foundation for Democracy (WFD), United Nations Development Programme (UNDP) และ United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women (UN Women)

...

นอกจากนี้ ทางชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยยังได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และคณะ กมธ.ความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศออสเตรเลีย (eSafety Commissioner) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันตัวของสตรีผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงอันเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่กดขี่สตรีเพศ

นางสาววิสาระดี ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันในภาพรวมรัฐสภาทั่วโลกจากผลสำรวจของสหภาพรัฐสภาในปี 2566 ยังคงมีเพศหญิงที่เป็นสัดส่วนน้อยเพียงแค่ 26.5% ดังนั้น จึงมีช่องว่างอีกมากในการผลักดันสิทธิต่างๆ ควบคู่ไปกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่จะส่งเสริมการใช้วิทยาการที่ก้าวหน้าเพื่อขจัดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูบทบาทกองทุนพัฒนาสตรีต่อรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ กมธ.สหภาพรัฐสภาสตรี ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2533 ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการทำให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางเพศและชี้แนะการทำงานในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มาจาก 6 ภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก พร้อมทั้งยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศและร่วมกันจัดทำรายงานต่อสหภาพรัฐสภา