ทุกปมประเด็นการเมืองสำหรับนักการเมืองแล้วล้วนมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น อย่างเรื่องที่กำลัง อยู่ในกระแสขณะนี้

กฎหมายนิรโทษกรรมที่ขัดแย้งกันเล็กๆ ในพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยความจริงก็ไม่มีอะไรเพียงแต่

มันเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียงและการผูกมิตรทางการเมือง... เท่านั้น

พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ชัดเจนว่าไม่แตะต้อง ม.112 รวมถึงการนิรโทษกรรมผู้ทำผิดในคดี 112 ด้วย

ซึ่งตรงข้ามกับพรรคฝ่ายค้าน “ประชาชน” ที่ต้องการแก้ไข ม.112 และนิรโทษกรรมคดี 112

ต่างฝ่ายต่างก็มีความชัดเจนและรับรู้กันในทางการเมือง

แต่ “เพื่อไทย” นั้นดูแปลกแปร่งเพราะก่อนจะร่วมรัฐบาลมีประเด็นหนึ่งที่เห็นตรงกันกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

คือไม่แตะต้อง ม.112 ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม!

แต่ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งมีการตั้ง กมธ.ศึกษา แนวทาง โดยมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเป็น กมธ.

ปรากฏว่ามีประเด็นเรื่อง ม.112 เข้ามาเกี่ยวข้องว่าจะนิรโทษกรรมส่วนนี้หรือไม่ จึงมีการเสนอทางออกคือแบ่งเป็น 3 ส่วน

1.คดี ม.112 ไม่เกี่ยว

2.คดี ม.112 ต้องพิจารณาด้วย

3.เกี่ยวข้องแต่ต้องมีเงื่อนไข

ปรากฏว่าพรรคประชาชนรับแนวทางนี้แต่พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับแนวทางนี้คือไม่รับผลการศึกษา

แต่เพื่อไทยแทงกั๊กไม่แสดงความชัดเจน

จึงถูกมองว่าน่าจะมีความคาบเกี่ยวกับกรณีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ถูกกล่าวหาว่าทำผิด ม.112 หากนิรโทษกรรมก็จะพ้นผิด

แค่ “เพื่อไทย” อ้างว่านี่เป็นแค่ผลการศึกษาไม่ได้เกี่ยวพันกับการตัดสินใจแต่อย่างใด อีกทั้งทุกพรรคต่างก็มีส่วนร่วมในการพิจารณา

“เพื่อไทย” จึงต้องรับรองผลการศึกษา

แต่จะนำไปดำเนินการต่อไปหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ารับไปเดินงานต่อก็เป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ถ้าไม่รับก็เก็บไว้เฉยๆไม่มีผลอะไร

...

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้หากโยงไปถึง ม.112 ด้วยก็จะส่งผลต่อคะแนนนิยม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุน การที่ “เพื่อไทย” มีเอี่ยวตรงนี้ก็จะได้คะแนนไปด้วย

อีกทั้ง “ประชาชน” ก็คาดหวังในผลสำเร็จจึงต้องการให้ “เพื่อไทย” ร่วมผลักดันเพราะไม่มีทางอื่น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า “ประชาชน” ไม่มีมิตรทางการเมืองเนื่องจากไม่มีใครเอาด้วย

มีแต่ “เพื่อไทย” เพียงพรรคเดียวที่พอจะไปกันได้บ้างแม้จะเป็นคู่แข่งก็ตาม ดังนั้นแนวทางการเมืองของ “ประชาชน” จึงถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่ฟาดฟัน “เพื่อไทย” เต็มที่ทั้งๆที่มีโอกาสมากมาย

อันบ่งบอกว่า 2 พรรคนี้มุ่งหวังต่ออนาคตข้างหน้าด้วย...

กรณีนี้ “เพื่อไทย” จึงต้องแสดงบทสองหน้าเพื่อหวังหาเสียงและแตะมือกับ “ประชาชน” ด้วย และที่เป็นปมสำคัญ

คือต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนเพื่อให้รัฐบาล อยู่ต่อไปได้

นั่นคือรับรองผลการศึกษาของ กมธ.แต่ไม่นำไปปฏิบัติเพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยจึงต้องเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ก่อน

เพราะถ้านำเข้า ครม.ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งถึงขั้นแตกหักได้

การเดินหมากด้วยการบอกว่าเรื่องของสภาก็เป็นเรื่องของสภาเรื่องของรัฐบาลก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องแยกกันให้ชัดเจน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม

ในรัฐบาลจึงไม่มีการพูดคุยกัน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม