สังคมไทยแตกแยกขัดแย้ง แบ่งขั้วแบ่งสีมาเกือบ 20 ปี
ทางเดียวที่จะแก้ไขคือความสมานฉันท์ปรองดอง
โดยเริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมือง
นี่คือเหตุผลที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรมว่าควรครอบคลุมกลุ่มใด? และไม่ครอบคลุมกลุ่มใด?
ความผิดประเภทใดควรนิรโทษกรรม??
ความผิดแบบใดไม่ควรนิรโทษกรรม??
เป็นแค่ศึกษาแนวทางเท่านั้น ยังไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
แต่แค่การศึกษาแนวทางเท่านั้น พรรคการเมืองก็ขัดแย้งกันระเบิดเถิดเทิง!!
กลัวว่าผลการศึกษาแนวทางของคณะกรรมาธิการ ซึ่งมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน
จะเปิดช่องให้นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นของต้องห้ามทางการเมือง
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานซืน จึงโหวตคว่ำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
โดยมติเสียงข้างมาก 270 เสียง ต่อ 152 เสียง ไม่เห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการภายใน 60 วัน
ผลคือการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรมที่ประชุมกันมาถึง 19 ครั้ง ใช้เวลาศึกษามานานถึง 6 เดือน เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา...
ต้องเก็บใส่ตู้เย็น!!
และการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องแช่เบ้าไปอีกนาน!!
แต่ที่ตลกมากคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร
กลับโหวตไม่เห็นด้วยให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปให้รัฐบาลพิจารณา
ทั้งๆที่พรรคเพื่อไทยเป็นตัวตั้งตัวตีเสนอให้มีการศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม
และรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้เอง
...
เพราะพรรคเพื่อไทยกลัวถูกโจมตีว่าจะเป็นสารตั้งต้นให้นิรโทษคดี ม. 112 ซึ่งเป็นของแสลงทางการเมือง
“แม่ลูกจันทร์” มองว่าข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่ส่งให้รัฐบาลพิจารณา ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าความผิดประเภทใดควรได้รับนิรโทษกรรม??
โดยเฉพาะความผิด ม.112 ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองยังเห็นไม่ตรงกัน
ก็เปิดทางเลือกให้พิจารณาถึง 3 แนวทาง
คือไม่นิรโทษกรรม หรือนิรโทษกรรม หรือนิรโทษกรรมเฉพาะบางกรณี
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าสภาฯชุดนี้จะไม่ออก ก.ม.นิรโทษคดี ม.112 อย่างแน่นอน!!
แถมส่งผลให้การนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองต้องติดไฟแดงทั้งขบวน
สุดท้ายปัญหาขัดแย้งแตกแยกกันมะรุมมะตุ้มก็ยังคาราคาซังต่อไป
เฮ้อ...เหนื่อยใจชะมัดเลยโยม.
“แม่ลูกจันทร์”
คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม