ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับทราบรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม แต่โหวตคว่ำข้อสังเกต 270 ต่อ 152 เสียง ด้าน “จตุรนต์” ซัด รายงานนิรโทษกรรม ไม่ใช่เวทีที่พรรคการเมืองมาแข่งกันเพื่อแสดงความจงรักภักดี ขณะที่ “หมอชลน่าน-พิเชษฐ์” เดือดชี้หน้ากลางสภาฯ ท้าอยากเป็นก็ขึ้นมา
เมื่อเวลา 14.38 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษา ได้กล่าวอภิปรายว่า หากไม่นิรโทษคดี 112 จะบรรลุคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ เราอาจจะใช้โอกาสนี้ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อยากให้ผู้ที่จงรักภักดีทุกท่าน มองว่าการปกป้องสถาบันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมองว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู
ทำให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ประท้วงนายชัยธวัช ว่า ใช้เวลาชี้แจงเกินจาก 5 นาที จึงขอให้สรุป และทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงเช่นเดียวกันว่าเกินเวลาแล้ว ทำให้นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ประท้วงว่า หากมีการประท้วงเรื่องเกินเวลา ต่อไปหากมีพรรคไหนอภิปรายเกินเวลาตนเองจะประท้วงบ้าง จึงมองว่าควรอลุ่มอล่วย
แต่นายพิเชษฐ์ ได้ชี้แจงว่า ได้วินิจฉัยแล้วในฐานะประธาน และเชื่อว่าทุกคนมีในใจแล้วในเรื่องโหวตรายงานนิรโทษกรรม
...
ขณะที่ นายจตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกอภิปรายว่า สภาฯ ควรจะเพิ่มเวลา เพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายเพิ่ม เนื่องจากทางพรรคเพื่อไทยยังไม่มีใครได้ชี้แจง โดยนายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่ายินดีและไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ โดยให้วิปหารือกัน นายพิเชษฐ์ จึงขอให้ กมธ. รวมถึงฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล ชี้แจงได้ต่อฝ่ายละ 1 คน
จากนั้นเวลา 15.30 น. นายจาตุรนต์ ได้อภิปรายว่า มีความขัดแย้งทางการเมืองมานานถึง 20 ปี ไม่กี่ปี มีประชาชนเสนอร่างนิรโทษกรรมเข้ามาที่สภาฯ ทางพรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจว่า ต้องการให้ สส. พิจารณาอย่างถ่องแท้ก่อนจะเสนอร่าง จึงตั้ง กมธ. คณะนี้ โดยที่พิจารณากันมา มีเพียงการเห็นต่างคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งรายงานไม่มีการลงมติอยู่แล้ว เพราะถือว่าสภาฯ รับทราบแล้ว ขณะที่ความขัดแย้งในสังคมไทย มีการนิรโทษมาแล้วหลายครั้ง เช่น คณะรัฐประหารที่สามารถนิรโทษกรรมตัวเองได้และทำไปแล้ว แต่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลาย ๆ คน ยังถูกลงโทษ ดังนั้นคดีที่เชื่อมโยงกับรัฐประหารจึงต้องถูกนิรโทษกรรมด้วย ไม่ใช่การยอมรับผิดก่อนแล้วนิรโทษ ส่วนที่มีการกังวลเกี่ยวกับคดี 112 จริง ๆ แล้วรายงานมี 3 ทางออก แต่ไม่ใช่การเอาวาระนี้ให้พรรคการเมืองมาแข่งกัน ว่าการเห็นด้วยกับนิรโทษหรือไม่เห็นด้วย คือการไม่จงรักภักดี หรือจงรักภักดี แต่รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้นำ ม.112 มาใส่ร้ายกัน โดยตนเองก็เคยได้อานิสงส์จากการนิรโทษกรรมมาแล้ว ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในคดีคอมมิวนิสต์ เพราะนักศึกษาในยุคนั้นไม่ได้ทำผิดคดี ม.112 แม้แต่นิดเดียวแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสี
สภาฯ จึงควรรับผิดชอบต่อสังคม ควรลดความบาดหมาง ไม่ว่าจะจากการที่ต่อต้าน หรือสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยก้าวพ้นจากวิกฤติทางการเมือง หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามา ก็ไปพิจารณาอย่างรอบคอบอีกชั้นหนึ่ง จึงอยากให้สนับสนุนรายงานนิรโทษกรรมฉบับนี้
ต่อมา 15.46 น. นายณัฐวุฒิ บัวปทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายว่า เมื่อ กมธ. นำเสนอรายงานนิรโทษกรรมเข้ามา และขอให้สภาฯ รับไปก่อน ทางฝ่ายค้านก็ไม่ขัดข้อง แต่จะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน ว่าให้ถอยคนละก้าว เพื่อหาทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง 20 ปี เพราะรายงานฉบับนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า มันเกิดขึ้นจริง ๆ คนที่ยังถูกดำเนินคดี และคนที่พร้อมก้าวข้ามความแตกต่าง และคาดหวังว่าเสียงที่เป็นฉันทามติของสภาฯ จะสะท้อนการเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
จากนั้น เวลา 16.10 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำความผิดตาม ม.110 และ ม.112 เพราะอาจจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จึงไม่เห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกตของกรรมาธิการ เพื่อไม่ให้ประเทศไปสู่การขัดแย้งครั้งใหญ่
ขณะที่ น.ส. แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส. อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายว่า ขอใช้เวลาสั้น ๆ ในการชี้แจง ว่าการรับทราบรายงานฉบับนี้ ไม่ได้หมายความว่าทางพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับเนื้อหาการทำรายงานของคณะกรรมาธิการ เพราะเนื่องจากไม่มีการโหวต และเพื่อยืนยันว่าการรับทราบดังกล่าว ทางพรรคไม่ได้เห็นด้วย
ต่อมาเวลา 16.25 น. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวสรุปว่า รายงานนี้ไม่ใช่การตรากฎหมาย แต่เป็นประโยชน์อย่างมาก หากเราตรากฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรมีเนื้อหาอย่างไร พร้อมย้ำว่า การเปิดประชุมสมัยหน้าจะมีร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ถึง 4 ฉบับ จึงเชื่อว่าผลการศึกษาของ กมธ. จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อมีรายงานเข้ามาแล้วจึงต้องรับทราบ แต่ข้อสังเกตไม่ได้หมายความว่าจะต้องดำเนินตาม จึงอยากให้สภาฯ มีการรับทราบ และลงมติข้อสังเกต
นายพิเชษฐ์ จึงกล่าวว่าถือว่าสภาฯ มีการรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอว่ามีใครไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตหรือไม่
ทำให้นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกอภิปรายว่า ทางพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ ทำให้นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า ประธานต้องให้มีการลงมติ ไม่ใช่การเสนอญัตติ พร้อมชี้ให้นายพิเชษฐ์ อ่านข้อบังคับการประชุม และให้ลงมา แล้วให้รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่แทน ทำให้นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า “ไม่ต้องชี้หน้า อยากเป็นก็ขึ้นมา”
จากนั้น 16.40 น. นายพิเชษฐ์ ได้ถามที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการหรือไม่ โดยในที่ประชุมมีจำนวนผู้ลงมติ 423 คน เห็นด้วย 152 เสียง ไม่เห็นด้วย 270 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาฯจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น